“ปญฺญา อนุปาโท จลจิตการ”
ประโยคหรือถ้อยคำภาษาบาลีที่ร้อยเรียงเป็นความหมายข้างต้นนี้ แปลเป็นภาษาไทยว่า “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” เป็นคำขวัญของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนหอจดหมายเหตุผสมผสานพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาอนุรักษ์ภาพยนตร์ในบ้านเราและจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์สื่อสารงานวิชาการภาพยนตร์อยู่เสมอ ๆ การเลือกใช้ภาษาโบราณที่ทำหน้าที่รักษาคัมภีร์ศาสนามาแต่งประโยคนิยามหน้าที่เชิงใช้สอยให้ภาพยนตร์เป็นสื่อสร้างความรู้เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศาสนาพุทธในสังคมที่หน่วยงานนี้ดำรงอยู่เป็นอย่างมาก แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงสื่อภาพยนตร์จะไม่ได้เป็นสิ่งที่เก่าแก่อายุเป็นพันปีเหมือนกับสถาบันศาสนา เนื่องด้วยภาพยนตร์เป็นประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้วกว่าสองพันสี่ร้อยปี หรือพระเยซูคืนชีพหวนคืนสวรรค์พระบิดากว่าพันแปดร้อยปี1 การจับสองสิ่งมาวางไว้ด้วยกันให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กันดูเหมือนจะเรื่องที่ต้องใช้ความคิดพินิจพิเคราะห์เป็นอย่างมาก ด้วยวารสารมานุษยวิทยาศาสนาเล่มนี้ตั้งหัวข้อเนื้อหาหลัก (Theme) ว่า “ศาสนากับภาพยนตร์” ทำให้บรรณาธิการเล่มอย่างผมต้องคิดทบทวนแล้วว่าสองสิ่งที่มาจากคนละยุคสมัยนี้มันสัมพันธ์ร้อยรัดเข้าด้วยกันอย่างไรนอกเหนือจากการจัดภาพยนตร์มาวางไว้กับศาสนาอย่างเป็นเหตุเป็นผลแล้ว การที่วารสารเล่มนี้ใช้ชื่อว่า “มานุษยวิทยา” ยิ่งสร้างความ “คิดหนัก” ให้กับผมในฐานะบรรณาธิการรับเชิญซึ่งทำหน้าที่เพียงแค่เขียนบทบรรณาธิการ พิสูจน์อักษร ตลอดจนคัดสรรการใช้ถ้อยคำ และมอบคำแนะนำแก่การจัดวางโครงร่างของบทความ โดยไม่กระทบเนื้อหาที่เป็นข้อเสนอหลักหรือบทวิเคราะห์ที่เป็นความคิดของผู้ประพันธ์ ความหนักใจที่ว่าเกิดจากการที่ผมไม่รู้จะเชื่อมโยงศาสนา มานุษยวิทยา และภาพยนตร์อย่างไร แม้ว่าภาพยนตร์จะสามารถเป็นสื่อที่บอกเล่าถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจากหลายจุดยืนของผู้ผลิตภาพยนตร์ หรือนักมานุษยวิทยาใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือบันทึกงานเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ (ethnography) และมีวิชามานุษยวิทยาสาขาย่อยอย่างมานุษยวิทยาสายตา (Visual Anthropology) ที่มีจุดสนใจอยู่ที่การศึกษาภาพถ่ายและภาพยนตร์ เนื่องด้วยบทความที่บรรณาธิการตัวจริงสรรหามาให้ผมช่วยพิจารณานี้กลับไม่ได้มีบทความใดที่เป็นงานเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์หรือกล่าวถึงกรอบแนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยาสายตาโดยตรงเลย งานส่วนใหญ่ที่ถูกคัดสรรมานั้นเป็นงานเขียนเชิงปรัชญาศาสนาที่ใช้ภาพยนตร์เป็นตัวบทศึกษาความจริงและชุดความเชื่อที่ปรากฏในนั้น โดยอาศัยภาพยนตร์เป็นตัวบทวิเคราะห์วิธีคิดทางศาสนาที่ปรากฏในนั้นเช่นเดียวกันเหมือนกับวิชาปรัชญา อ่านบทความแล้วก็อดนึกเล่น ๆ ไม่ได้ว่า วารสารฉบับนี้น่าจะเปลี่ยนชื่อจากวารสารมานุษยวิทยาศาสนาเป็นปรัชญาศาสนาแทน
แต่จะอย่างไรเสีย ถ้าหากนิยามวิชามานุษยวิทยาว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจมนุษย์อย่างเป็นระบบระเบียบแล้ว (“Anthro + Logic”) งานเขียนที่บรรณาธิการตัวจริงสรรหามาก็นับว่า เข้าข่ายดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อฐานะของสื่อภาพยนตร์ที่เป็นเหมือนเครื่องมือถ่ายถอดภาพในจินตนาการของมนุษย์ ร้อยเรียงด้วยความคิด ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกฉายออกมาเป็นภาพมีความหมาย สามารถอ่านหรือถอดรหัสในมิติของวัฒนธรรมได้ การดูภาพยนตร์ก็เหมือนการอ่านตัวบททางวัฒนธรรม และนักมานุษยวิทยาก็เป็นผู้ประดิษฐ์กรอบมโนทัศน์วัฒนธรรมในฐานะหน่วยที่ตั้งแห่งการศึกษานั่นเอง บทความแต่ละบทที่บรรณาธิการตัวจริงคัดสรรมาล้วนแต่แสดงบทบาทการอ่านความหมายที่ปรากฏในภาพยนตร์ซึ่งสะท้อนความคิดจิตใจของมนุษย์ และเรียบเรียงบอกเล่าออกมาอย่างเป็นระบบระเบียบสมกับเป็นการศึกษามนุษย์อย่างมีตรรกะวิทยา มิพักต้องเอ่ยถึงอิทธิพลของวิชาปรัชญาที่ไปมีบทบาทในการประกอบสร้างกรอบมโนทัศน์หรือทฤษฎีของวิชามานุษยวิทยา
หากพิจารณาในบริบทสาขาวิชาภาพยนตร์ศึกษาการศึกษาวิจัยภาพยนตร์อย่างเป็นระบบระเบียบนั้นแบ่ง 3) แบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ 1) การวิเคราะห์ตัวบท (textual analysis) ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาโครงสร้างภาพยนตร์หรือไวยากรณ์ของมัน เทคนิคการถ่ายวางองค์ประกอบภาพ (Mise-en-scène) ตลอดจนการจัดระบบระเบียบแนวของหนัง (genre) เหมือนกับการศึกษาวรรณกรรมงานเขียนฉันใดก็ฉันนั้น แนวทางต่อมา คือ 2) การศึกษาวิเคราะห์บริบท (contextual analysis) หรือการอ่านภาพยนตร์ด้วยการพิจารณาบริบทที่มีผลต่อการประกอบสร้างเนื้อหา โดยทำได้แต่การศึกษาวิเคราะห์ความคิดหรืออัตชีวประวัติของผู้ผลิตภาพยนตร์ที่มีฐานะเป็น “ประพันธกร” (auteur) ตลอดจนการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์หรือบริบทของเศรษฐกิจสังคมการเมืองและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อเนื้อหาภาพยนตร์ 3) การศึกษาวิเคราะห์ผู้ชมหรือการตอบรับ (audience analysis/reception studies) ที่เป็นเหมือนการศึกษาบริบทเช่นเดียวกับข้อที่สองแต่ย้ายความสนใจมาที่ผู้ชมซึ่งเป็นผู้รับสื่อโดยวิเคราะห์การตีความภาพยนตร์ของพวกเขา พร้อมพิจารณาปัจจัยทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อการตีความไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา จุดยืน หรืออุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น2
พิจารณาแล้วบทความทั้งหมดที่ปรากฏในวารสารน่าจะจัดอยู่ในขอบข่ายของการศึกษาภาพยนตร์แบบพิจารณาบริบท เนื่องด้วยมีเนื้อหาวิเคราะห์ศาสนาหรืออุดมการณ์ทางความเชื่อที่อยู่ในหนังซึ่งเป็นบริบทแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อเนื้อหาของภาพยนตร์ ตลอดจนแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์ต่อเนื้อหาที่ปรากฏในตัวบทหนัง บทความแต่ละบทมีรายละเอียดและความน่าสนใจ ดังนี้
บทความเรื่อง GATTACA ฝ่ากฎโลกพันธุกรรม: เมื่อมนุษย์ริอาจท้าทายพระเจ้า? ของ เจริญพร จุลชู และเพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ ซึ่งกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่อง GATTACA (1997) โดยวิเคราะห์เนื้อหาให้เห็นว่า ภาพยนตร์แฝงไว้ด้วยการวิพากษ์วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และมีช่องโหว่ของวิธีคิดที่เปิดพื้นที่ให้กับความเชื่อของศาสนาในประเด็นการตัดแต่งทางพันธุกรรม ผู้อ่านจะได้เห็นการปะทะประสานทางอุดมการณ์และความเชื่อระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา คู่ชกเอกในพื้นที่ทางความคิดของโลกสมัยใหม่
บทความ The Seventh Seal (Ingmar Bergman, 1957) พระเจ้ามีหรือไม่มีสำหรับอัศวินแอนโทเนียส บล็อค (Antonius Block) ในประจักษ์นิยมแบบจัด ของวิลเลียม เจมส์ ของ ศุภรัช พงศ์คุณาพร ซึ่งประกาศชัดเจนว่าเป็นบทวิเคราะห์ทางปรัชญาที่ใช้ภาพยนตร์เรื่อง The Seventh Seal (1957) ของผู้กำกับชาวสวีเดน Ingmar Bergman เนื้อหาในบทความนี้เป็นตัวบทวิเคราะห์ความคิดแบบประจักษ์นิยมของนักปรัชญาที่ปรากฏในภาพยนตร์ดังกล่าว ผู้อ่านจะได้เห็นการตั้งคำถามกับมโนทัศน์ทางศาสนาตั้งแต่ความศรัทธา ไปจนกระทั่งการดำรงอยู่ของพระเจ้า สะท้อนให้เห็นแนวคิดการพิสูจน์พระเจ้าด้วยวิธีประจักษ์นิยมแบบจัดของวิลเลียม เจมส์ ผ่านตัวละครตัวเอกในภาพยนตร์
บทความเรื่อง คุณค่า ความตาย และ ชีวิต จากที่สุดของภูมิปัญญามนุษย์ย่อมถึงวันที่โรยรา เมื่อกาลเวลาล้วนพรากทุกสิ่ง และทิ้งเพียงร่องรอยที่สร้างวัฏจักรจุดเริ่มต้น ของ อริญชน์ ปราณพิชัยวัฒน์ ที่มีความโดดเด่นและรุ่มรวยทางด้านภาษาชนิดที่ผิดแผกแปลกประหลาดไปจากงานชิ้นอื่น ปานประหนึ่งบทรำพึงรำพันตั้งคำถามกับธรรมชาติของมนุษย์ผ่านการเอาภาพยนตร์มาเป็นตัวตั้งต้นอภิปรายความคิดของผู้เขียน โดยหยิบยกภาพยนตร์ซี่รี่ย์หรือละครชุด 2 เรื่อง คือ Altered Carbon (2018-2020) และ Foundation (2021) มาเจียระไรด้วยโวหารวกไปวนมาอย่างพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์และตั้งคำถามต่ออนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติผ่านมุมมองของผู้เขียน กระตุ้นความคิดระหว่างบรรทัดทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนได้สนทนากับผู้เขียนไปด้วยขณะที่ได้อ่าน
บทความ ภูติ ผี และปีศาจในภาพยนตร์เกาหลี ของ ปิยชัย นาคอ่อน ซึ่งได้ศึกษาว่าในประเทศเกาหลีมีกรอบมโนทัศน์เรื่องสิ่งลี้ลับและความเชื่อทางศาสนาเช่นใดบ้าง เป็นงานเขียนเชิงศาสนศึกษาที่ใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทำความเข้าใจกระแสคิดที่ปรากฏในสังคมเกาหลีที่สะท้อนผ่านเนื้อหาภาพยนตร์และซีรี่ย์ละครชุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง The guest (2018), Hotel Del Luna (2019), Mystic Pop-up Bar (2020) และ Stranger from Hell (2019) การอ่านบทความนี้จะช่วยให้เราเห็นพลวัตของความเชื่อของมนุษย์ที่ทำงานผ่านสื่อร่วมสมัยอย่างสนุกสนาน
บทความ ทำความรู้จัก “ศาสนาประดิษฐ์” (Invented Religion): หนึ่งในกรอบคิดเพื่อเข้าใจศาสนาจากภาพยนตร์ ของ ธนพล เฮงสาโรชัย ซึ่งพาเราไปรู้จักความหลากหลายของศาสนาในโลกปัจจุบันที่ไม่ได้มีแต่ศาสนาหลักของโลกที่เป็นสถาบันเก่าแก่จากโลกยุคโบราณ แต่เป็นศาสนาที่มีชีวิตชีวามีความทีเล่นจริงและมีสีสัน “colorful” ไม่ว่าจะเป็น “ศาสนาเจได” (Jediism) หรือ “ศาสนาดู๊ด” (Dudeism) ซึ่งล้วนแต่เป็นศาสนาประดิษฐ์ (Invented Religion) ดัดแปลงจากภาพยนตร์หรือสื่อร่วมสมัย บทความนี้จะแสดงให้เราเห็นปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของมุมมองทางศาสนาอย่างน่าพินิจพิจารณา
ยังมีบทความเรื่อง ราคะ ศรัทธา อำนาจ: Benedetta ของเนตรชนก ถนอมวงศ์ นักวิชาการมือสมัครเล่นที่ฝีมือไม่ได้เล่น ๆ แถมยังคิดอ่านเขียนด้วยพลังแห่งความรักที่ไม่เหมือนใคร เนตรชนกพาเราไปสำรวจเนื้อหาของภาพยนตร์ Benedetta (2021) ที่ตีแผ่นเรื่องลับหลังวัดของสำนักนางชีแคทอลิคในยุโรปสมัยกลาง พร้อมตั้งคำถามกับวงการศาสนาและคำสอนที่กดทับธรรมชาติเบื้องต่ำของมนุษย์อย่าง “ถึงพริกถึงขิง”
ในฐานะบรรณาธิการประจำเล่ม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานเขียนที่บรรณาธิการก่อตั้ง (หรือที่ผมเรียกว่าบรรณาธิการตัวจริง) ได้คัดสรรมาให้ท่านอ่านเหล่านี้ จะมอบความบันเทิงทางสติปัญญาให้แก่ท่านผู้อ่านไม่มากก็ไม่น้อย อนึ่ง การทำงานบรรณาธิการประจำเล่มของผมยังคงยึดหลักการของบรรณาธิการก่อตั้งที่มุ่งหมายให้วารสารเป็นพื้นที่เปิดเสรีภาพทางความคิดชนิดที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการครอบงำของกฎเกณฑ์หรือระเบียบงานทางเอกสารในแวดวงวิชาการใด ๆ กล่าวคือ คณะบรรณาธิการยอมให้วารสารนี้เป็น “วารสารเถื่อน” ไม่เข้าระบบศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารในบ้านเรา เพื่อรักษาเสรีภาพทางความคิดและการนำเสนองาน (ตลอดจนความยืดหยุ่นของระยะเวลาการทำงาน)
อีกทั้งยังมอบโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการอาชีพแต่มีใจรักการคิดอ่านเขียนได้มีพื้นที่ “ปล่อยของ” หรือแสดงฝีไม้ลายมือทางสติปัญญาอย่างเต็มที่ผ่านการเขียนบทความลงวารสาร หรือแม้กระทั่งการเปิดโอกาสให้คนที่มีผลงานตีพิมพ์ไม่กี่ชิ้นและไม่มีงานวิชาการทำเป็นหลักเป็นฐานหาเลี้ยงชีพได้ มาทำหน้าที่บรรณาธิการเล่มแบบงง ๆ อย่างกรณีของผม โดยไม่สนใจคำครหาติฉินนินทาเรื่องคุณภาพของงานเขียนจากคนทำงานในแวดวงวิชาการอาชีพจริง ๆ ด้วย “Spirit of the Under Dog” หรือ “ไก่รองบ่อน” ในสำนวนบ้านเรา ผมขอกราบขอบพระคุณคุณเจษฎา บัวบาล บรรณาธิการก่อตั้งวารสารและพระอาจารย์สุธี (ชล) วิสุทธสีโล ผู้ร่วมก่อตั้งวารสารและพระอาจารย์ของผมสมัยบวชเป็นสามเณร นอกจากนี้ยังมีผู้เขียนบทความลงวารสารนี้ที่ทางเรากองบรรณาธิการไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ให้ มีแต่ความสำนึกในน้ำใจพวกท่าน และขอกราบขอบพระคุณอย่างหนักมา ณ โอกาสนี้ ทางผมและคณะบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การศึกษาวิชาการด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ในบ้านเราจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมชาติบ้างในฐานะสื่อที่มอบความรู้ความเข้าใจดุจเดียวกับภาพยนตร์ที่ยังให้เกิดสติปัญญาตามคำขวัญของหอภาพยนตร์ที่ยกมาในข้างต้น แม้ว่าสาขาวิชานี้จะไม่ใช่สาขาวิชาที่มีประโยชน์ในเชิงปฏิบัติช่วยให้ผู้เรียนทำมาหากินร่ำรวย หรือประกอบอาชีพที่มีหน้าที่การงานมั่นคงได้ในปัจจุบัน
ชานนท์ ลัภนะทิพากร
22 กันยายน 2565
......................
1. แม้จะมีช้อมูลจากหอภาพยนตร์ระบุว่า “...นายลุยส์แซม ออกุสแตง เลอ แปรงซ์ชาวฝรั่งเศสนักประดิษฐ์ภาพยนตร์คนแรกที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งจดสิทธิบัตรประดิษฐ์กรรมภาพยนตร์ของเขา เมื่อปี 2431 ก็มีความคิดเป็นดังฝันหรืออุดมทัศน์ว่า ภาพยนตร์ของเขาจะเป็นเครื่องมือช่วยให้มวลมนุษย์ได้เรียนรู้เข้าอกเข้าใจกันและสามารถยังให้เกิดสันติสุขแก่โลก...” ซึ่งเป็นข้อมูลที่สนับสนุนคำขวัญขององค์กรดังกล่าวโดยอนุโลม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์ขององค์กร
2. ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของแต่ละแนวทางได้ในบทความ ดูหนังด้วยแว่นทฤษฎี : แนวคิดเบื้องต้นของการวิเคราะห์ภาพยนตร์ ของ กำจร หลุยยะพงศ์ (2018)