Georges Bataille ได้นำเสนอประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) เทววิทยา (Theology) และความศักดิ์สิทธิ์ (The Sacred) ในสังคมสมัยใหม่ และผลกระทบของเรื่องเล่าปรัมปราที่มีต่อศรัทธาและความหมายของการดำรงอยู่ ผ่านงาน The Absence of Myth
หนึ่งในประเด็นสำคัญของ Bataille คือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเทววิทยา (Theology) และเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) โดยเขาเปรียบเปรยว่า ศาสนา (Religion) และเซอร์เรียลิสม์เป็นระบบที่มีโครงสร้างคล้ายกัน ทั้งสองพยายามที่จะเข้าถึงสภาวะศักดิ์สิทธิ์ (The Sacred State) ที่อยู่เหนือความเป็นเหตุเป็นผล (Rationality) อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ศาสนามักถูกผูกติดกับพระเจ้า (God) และความสมบูรณ์แบบ (Perfection) แต่เซอร์เรียลิสม์กลับมุ่งไปสู่ประสบการณ์แห่งอันไร้ขีดจำกัด (Limitlessness) และความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ (Spiritual Autonomy) Bataille ชี้ให้เห็นว่า "ศาสนาของเซอร์เรียลิสม์" (The Surrealist Religion) นั้นเป็นการตั้งคำถามต่อโครงสร้างดั้งเดิมของความเชื่อ (Belief System) และในบางแง่มุมยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของศาสนาในสังคมอีกด้วย
นอกจากนี้ Bataille ยังเสนอว่า "ความศักดิ์สิทธิ์" (The Sacred) ปรากฏการณ์ในฐานะที่ไม่สามารถถูกจำกัดโดยกรอบความคิดทางเทววิทยาแบบดั้งเดิมได้ เขาเห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ถูกกำหนดโดยศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถถูกเข้าใจผ่านมิติของความรุนแรง (Violence) ความปรารถนา (Desire) และความเป็นไปไม่ได้ (Impossibility) ความคิดนี้ขัดแย้งกับแนวคิดของศาสนจักร (Religious Institution) ซึ่งมักจะมุ่งเน้นไปที่ศีลธรรม (Morality) และความเป็นระเบียบ (Order) ถึงอย่างงนั้น Bataille กลับมองว่าความศักดิ์สิทธิ์นั้นสัมพันธ์กับ "การเสียสละ" (Sacrifice) และ "การเกินความจำเป็น" (Excess) เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับพิธีกรรม (Rituals) โบราณที่เกี่ยวข้องกับการอุทิศตนอย่างสุดโต่ง
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ Bataille วิพากษ์วิจารณ์เทววิทยาแบบดั้งเดิมว่าเป็นเพียงเครื่องมือของอำนาจ (Instrument of Power) เขาชี้ให้เห็นว่า พระเจ้า (God) ไม่ใช่สิ่งที่ไร้ตัวตนอย่างแท้จริง แต่เป็น "สิ่งที่ถูกจำกัดให้เป็นวัตถุ" (Objectified Being) ซึ่งสามารถถูกควบคุมได้โดยศาสนจักร กล่าวอีกนัยหนึ่ง Bataille มองว่าเทววิทยาไม่ใช่การสำรวจความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงกลไกของอำนาจ (Mechanism of Power) ที่พยายามกำหนดขอบเขตของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ (Spiritual Experience)
เมื่อพิจารณางาน The Absence of Myth ของ Georges Bataille ในบริบทของสังคมไทย เราจะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันในแง่ของความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างความเชื่อและอัตลักษณ์ทางศาสนา ในอดีต สังคมไทยถูกขับเคลื่อนโดยความศักดิ์สิทธิ์ที่สัมพันธ์กับศาสนาพุทธ ความเชื่อท้องถิ่น (Local Beliefs) และสถาบันกษัตริย์ (Monarchy) ซึ่งทำหน้าที่เป็น "ตำนานร่วม" (Collective Myth) ที่เชื่อมโยงประชาชนเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมไทยเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่ (Modernization) ความเชื่อเหล่านี้เริ่มถูกตั้งคำถามและลดบทบาทลง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รับเอาวิธีคิดแบบเหตุผลนิยม (Rationalism) และเสรีนิยม (Liberalism) มาเป็นกรอบในการมองโลก สิ่งนี้สอดคล้องกับข้อสังเกตของ Bataille ที่ว่า สังคมสมัยใหม่พยายามลดทอนตำนานให้กลายเป็นเพียง "เรื่องเล่า" (Narrative) ที่ไร้พลังอันศักดิ์สิทธิ์ และแทนที่ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
พุทธศาสนาเคยเป็นศูนย์กลางของจิตวิญญาณ และคุณค่าทางสังคม แต่ในปัจจุบัน ศาสนากลายเป็นกลไกของรัฐ (State Mechanism) และทุนนิยม (Capitalism) มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของ "พุทธพาณิชย์" (Commercialized Buddhism) ที่เปลี่ยนวัตถุทางศาสนา เช่น พระเครื่อง (Amulets) และพิธีกรรม ให้กลายเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ หรือแม้แต่การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง (Political Instrumentalization of Religion) เช่น การสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ในแง่นี้ ความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมสมัยใหม่ไม่ได้ถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง แต่กลับถูกแปรสภาพเป็นสิ่งที่สามารถถูกควบคุมและใช้ประโยชน์ทางสังคมได้ ซึ่งทำให้เรื่องเล่าสูญเสียพลังดั้งเดิมไป
สุดท้ายนี้ ศาสนาไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นกลไกของอำนาจที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมและกดขี่จิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล ภายใต้โลกสมัยใหม่ ศาสนาไม่เพียงถูกลดทอนความหมาย แต่ยังถูกแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าและเครื่องมือของรัฐ เพื่อรักษาสถานะทางอำนาจของชนชั้นปกครอง พุทธศาสนาถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตำนานร่วมที่เคยเป็นรากฐานของสังคมถูกแทนที่ด้วยระบบที่ขับเคลื่อนโดยทุนนิยมและอุดมการณ์ที่ไร้ราก ในท้ายที่สุด สิ่งที่ Bataille ชี้ให้เห็นไม่ใช่เพียงการหายไปของตำนาน แต่เป็นการปลดแอกความคิดจากกรอบของอำนาจ และการเปิดทางสู่ประสบการณ์ที่ไร้ขีดจำกัด อิสรภาพที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ในการยอมจำนนต่อโครงสร้างเดิม แต่เป็นการทำลายมันลงอย่างถึงรากถึงโคน
ศักดา เฉลิมพงษ์
17 กุมภาพันธ์ 2568