Journal of Religious Anthropology

วิวัฒนาการแนวคิดสิทธิในเรือนร่าง: จากรากฐานศาสนาสู่เสรีนิยมร่วมสมัย

วิวัฒนาการแนวคิดสิทธิในเรือนร่าง: จากรากฐานศาสนาสู่เสรีนิยมร่วมสมัย

ศักดา เฉลิมพงษ์



"สิทธิในเรือนร่าง" (bodily autonomy) มีรากฐานมาจากคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะทางด้านจริยธรรมทางเพศ (sexual ethics) และบทบาทของร่างกายในแง่ศีลธรรม คริสต์ศาสนาในยุคแรก เช่นในคำสอนของนักบุญเปาโล (Saint Paul) ให้ความสำคัญเรือนร่างในฐานะ "วิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์" (1 โครินธ์ 6:19-20) แสดงให้เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เป็นของปัจเจก แต่เป็นสิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์และควรถูกใช้อย่างเหมาะสมตามเจตจำนงของพระเจ้า 


ด้วยฐานคิดนี้จึงกลายเป็นพื้นฐานของการควบคุมเรื่องเพศ โดยกำหนดว่าการแสดงออกทางเพศต้องเกิดขึ้นภายใต้กรอบของการแต่งงานและศีลธรรมเท่านั้นดั่งที่เห็นในยุโรปยุคกลาง การตีความเรื่องเพศในคริสต์ศาสนามองว่าความปรารถนาทางกายเป็นสิ่งที่ควรถูกควบคุมเพราะอาจนำไปสู่ "บาป" เช่น การล่วงประเวณีหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม ทัศนะเช่นนี้ปรากฏในงาน Confessions ของ นักบุญออกัสติน (Saint Augustine) 


ด้วยเหตุนี้จึงสร้างรากฐานให้กับแนวคิดมองว่าเรือนร่างและเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพของตัวเราโดยสมบูรณ์ แต่เป็นเรื่องที่ต้องสอดคล้องกับกรอบศีลธรรมศาสนา ในขณะเดียวกัน คริสต์ศาสนาในยุคกลางยังพยายามสร้างอำนาจในการควบคุมเรือนร่างผ่านระบบกฎหมายศาสนจักร (Canon Law) ซึ่งควบคุมสิทธิในการแต่งงาน การหย่า และบทบาทของผู้หญิง


อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ได้ถูกท้าทายในโลกสมัยใหม่เมื่อเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคล (individualism) และเสรีภาพส่วนบุคคล (personal liberty) ในงาน On Liberty ของ จอห์น สจ๊วร์ต มิลล์ (John Stuart Mill) นักปรัชญาเสรีนิยมที่ได้พัฒนาความคิดที่ว่า ร่างกายและชีวิตของปัจเจกบุคคลควรเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หลักการนี้เรียกว่า "หลักภยันตราย" (Harm Principle) ที่มีต่ออิทธิพลต่อการสร้างแนวคิดสิทธิในเรือนร่างในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน 


การเปลี่ยนผ่านนี้เป็นการพัฒนาทางปรัชญาในยุครู้แจ้ง (Enlightenment) โดยนักคิดอย่าง จอห์น ล็อก ในงาน Two Treatises of Government ของเขายืนยันว่าชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินเป็นสิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) ที่รัฐหรือศาสนาไม่อาจล่วงละเมิดได้ แนวคิดนี้ขยายไปสู่การมองร่างกายว่าเป็นทรัพย์สินของปัจเจกชนที่ไม่อาจถูกบังคับหรือควบคุมโดยผู้อื่น แม้กระทั่งโดยรัฐหรือศาสนา การมองเรือนร่างในฐานะสิทธิเหนือการควบคุมนี้ ทำให้เสรีนิยมกลายเป็นรากฐานสำคัญของการเรียกร้องสิทธิในเรือนร่างในหลายมิติ ตั้งแต่สิทธิทางเพศ สิทธิการเจริญพันธุ์  แม้กระทั่งสิทธิในการกำหนดจุดจบของชีวิต.


เมื่อการพัฒนาด้านสิทธิในเรือนร่างเป็นของปัจเจกเองโดยสมบูรณ์แล้ว บทความนี้ก็ขอขยายเข้าสู่พื้นที่สำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับการซื้อขายบริการทางเพศ (sex work) ในสมัยก่อนการซื้อขายบริการทางเพศเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศและเงิน ในยุคก่อนคริสต์ศาสนา การแลกเปลี่ยนทางเพศในบางวัฒนธรรม เช่น การเป็นโสเภณีศักดิ์สิทธิ์ (sacred prostitution) ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเชื่อมโยงเรือนร่างเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์และการบูชาเทพเจ้า 


อย่างไรก็ตาม ในยุคที่คริสต์ศาสนามีอิทธิพลเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเพศที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในกรอบของการแต่งงานถูกมองว่าเป็นบาป และโสเภณีกลายเป็นกลุ่มที่ถูกตีตรา แต่ทว่าแนวคิดทางเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นในยุครู้แจ้งได้ปรับเปลี่ยนมุมมองนี้บางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่มองว่าความสัมพันธ์ทางเพศสามารถถูกตีความในฐานะสัญญา (contract) ระหว่างบุคคล การซื้อขายบริการทางเพศจึงอาจถูกมองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจที่ต่างฝ่ายต่างมีการยินยอมซึ่งกันและกัน 


ในปัจจุบันแนวคิดเสรีนิยมได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการลดทอนความเป็นอาชญากรรม (decriminalization) ของการขายบริการทางเพศ โดยมองว่าเป็นสิทธิของผู้หญิงหรือบุคคลใด ๆ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรือนร่างของตนเอง และการมาของยุคทุนนิยมดิจิทัล (digital capitalism) การซื้อขายบริการทางเพศและการผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ เช่น การทำคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะเมื่อผู้สร้างเนื้อหา (sex creators) ต้องแข่งขันในระบบที่ขับเคลื่อนด้วยอัลกอริทึม แนวคิดเรื่องสิทธิในเรือนร่างที่เคยเป็นรากฐานของการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาดที่ถูกควบคุมโดยแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เช่น OnlyFans หรือ Pornhub


ทุนนิยมดิจิทัลทำให้การผลิตและการบริโภคเนื้อหาทางเพศกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งอัลกอริทึม ซึ่งกำหนดการมองเห็นและความนิยมของคอนเทนต์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเงินและเซ็กซ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกควบคุมโดยแพลตฟอร์มที่กำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงรายได้ของผู้สร้างเนื้อหา ตัวอย่างเช่น อัลกอริทึมที่มักสนับสนุนเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจในระยะสั้น เช่น ความเซ็กซี่หรือความแปลกใหม่ ซึ่งบีบให้ sex creators ต้องสร้างเนื้อหาที่เป็นไปตามเทรนด์อย่างต่อเนื่อง 


ทุนนิยมจึงได้แปรรูปแรงงานมนุษย์เป็นสินค้า (commodification) เรือนร่างและเพศได้กลายเป็น "สินค้าดิจิทัล" ที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและกลไกของแพลตฟอร์ม การแข่งขันอย่างเข้มข้นและความผันผวนของรายได้ทำให้ sex creators หลายคนพบว่าการรักษาความยั่งยืนในอาชีพนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ จากคอนเทนต์ที่สร้างความตื่นเต้นตื่นตามากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงที่สุดระบบที่ขับเคลื่อนด้วยอัลกอริทึมก็นำพาไปสู่ "ทางตัน" (dead-end) ของ sex creators หลายราย เมื่อพวกเขาไม่สามารถแข่งขันในระบบที่ต้องการการผลิตเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง


แนวคิดเรื่องสิทธิในเรือนร่างจึงถูกลดทอนลง เมื่อสิทธิในการควบคุมร่างกายและการแสดงออกทางเพศถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ผู้สร้างเนื้อหาไม่สามารถควบคุมได้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างเงินและเซ็กซ์ในยุคทุนนิยมดิจิทัลไม่ได้สะท้อนถึงเสรีภาพที่แท้จริง แต่กลับเป็นการแสดงถึงโครงสร้างเชิงอำนาจของแพลตฟอร์มที่บังคับให้ sex creators ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอด 


แต่การล้มเลิกของ sex creators ไม่ได้เป็นเพียงความล้มเหลวส่วนบุคคล แต่เป็นผลลัพธ์จากโครงสร้างทุนนิยมดิจิทัลต่างหาก ถึงแม้ว่า sex creators จะสามารถใช้สิทธิในเรือนร่างเพื่อสร้างรายได้และแสดงออกอย่างเสรี แต่ผลกระทบที่ตามมาจากการทำงานในอุตสาหกรรมนี้มักสะท้อนให้เห็นว่าร่างกายยังคงถูกมองว่าเป็น "อาณาเขตทางศีลธรรม" (moral territory) ภายใต้กรอบความคิดที่มีรากฐานจากศาสนา ไม่ว่าจะในโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออก sex creators มักเผชิญกับการตีตรา (stigma)  และถูกคอมเมนต์ในลักษณะที่ลดทอนคุณค่าของพวกเขาให้เหลือเพียง "วัตถุทางเพศ" 


สิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากการใช้อัลกอริทึมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอิทธิพลจากบรรทัดฐานทางสังคมที่ผูกพันกับมุมมองทางศาสนา ซึ่งมองว่าการแสดงออกทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดบาปหรือไร้ศีลธรรม แม้แต่ในโลกตะวันตกที่เสรีภาพส่วนบุคคลถูกยกย่อง แนวคิดทางศาสนาและศีลธรรมยังปรากฏอยู่ในวาทกรรม เช่น การใช้แนวคิดเรื่อง "บาป" และ "อับอาย" เพื่อควบคุมพฤติกรรมและโจมตีผู้หญิงและบุคคลที่ทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศ


เสรีนิยมและทุนนิยมดิจิทัลจะเปิดโอกาสให้ sex creators สามารถแสดงออกและสร้างรายได้จากร่างกายของตนเอง แต่การถูกตีตราจากสังคมและการควบคุมทางศีลธรรมที่ยังคงฝังลึกแสดงให้เห็นว่า ร่างกายยังคงเป็นอาณาเขตที่ถูกกำกับโดยอุดมการณ์ศาสนา ไม่ว่าจะในโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออก สิ่งนี้สะท้อนความย้อนแย้งของโลกสมัยใหม่ ที่แม้จะเปิดรับเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล แต่กลับยังไม่สามารถปลดแอกเรือนร่างออกจากอำนาจเชิงศีลธรรมที่มีรากฐานมาจากอดีตได้อย่างสมบูรณ์


จนถึงที่สุดโลกแบบเสรีนิยมและทุนนิยมดิจิทัลจะเปิดโอกาสให้ sex creators สามารถแสดงออกทางเพศและสร้างรายได้จากร่างกายของตนเอง แต่การถูกตีตราจากสังคมและการควบคุมทางศีลธรรมที่ยังคงฝังลึกแสดงให้เห็นว่า ร่างกายยังคงเป็นอาณาเขตที่ถูกกำกับโดยอุดมการณ์ศาสนา ยิ่งสะท้อนความย้อนแย้งของโลกสมัยใหม่ ที่แม้จะเปิดรับสิทธิและเสรีภาพ แต่กลับยังไม่สามารถปลดแอกเรือนร่างออกจากอำนาจทางศีลธรรมที่มีรากฐานมาจากศาสนาได้อย่างสมบูรณ์ หรือการการแยกศาสนาออกจากรัฐ (secularization) อย่างเด็ดขาดที่จะทำให้ผู้คนในสังคมปราศจากอคติเรื่องเพศได้อย่างสมบูรณ์ ?


เอกสารอ้างอิง

Aspirational Work. Yale University Press, 2017.

Augustine. Confessions. Translated by Henry Chadwick, Oxford University Press, 1991.

Herod, Andrew. The Dirty Work of Neoliberalism: Cleaners in the Global Economy. Wiley-Blackwell, 2009.

Herodotus. Histories. Translated by Aubrey de Sélincourt, Penguin Classics, 1954.

Locke, John. Two Treatises of Government. London: Awnsham Churchill, 1689.

MacKinnon, Catharine A. Feminism Unmodified: Discourses on Life and Law. Harvard University Press, 1987.

Marx, Karl. Capital: A Critique of Political Economy, Volume I. Translated by Ben Fowkes, Penguin Books, 1990.

Mill, John Stuart. On Liberty. London: Longman, Roberts & Green, 1859.

Srnicek, Nick. Platform Capitalism. Polity Press, 2017.

Walkowitz, Judith R. Prostitution and Victorian Society: Women, Class, and the State. Cambridge University Press, 1980.


แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า