Journal of Religious Anthropology

หลวงเจ๊เป็นใคร

หลวงเจ๊เป็นใคร: ทำความรู้จักความหลากหลายทางเพศของคนในวัด



หลวงเจ๊คือมนุษย์ทั่วไปที่เข้ามาบวช แต่เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกไม่ค่อยเหมือนชายแทร่ จึงถูกจับจ้องมากกว่าปกติ ที่จริงพวกเธออยู่ร่วมกับสังคมไทยมานาน ทำหน้าที่สวดมนต์ สอนธรรมะ พัฒนาวัด สงเคราะห์ชุมชน บทความนี้จะเขียน 3 ประเด็นเพื่อชวนให้รู้จักหลวงเจ๊มากขึ้น (1) เพศมันลื่นไหล หลวงเจ๊เป็นได้หยุดได้ (2) หลวงเจ๊ช่วยสืบทอดอายุศาสนา และ (3) หลวงเจ๊ช่วยปอกเปลือกให้เห็นความไม่ยุติธรรมของพระพุทธเจ้า


เกริ่นนำ

ช่วงที่ผมบวชเณรปี 2543 ในภาคใต้ ก็เจอหลวงเจ๊เลย แกเป็นพระรูปหนึ่งที่มานั่งในพิธีบวชเณรภาคฤดูร้อนของพวกเรา ช่วยพวกเราห่มจีวร แต่ตอนนั้นหลายคน (รวมทั้งผม) ไม่รู้นะว่าแกเป็นหลวงเจ๊ แบบเดียวกับที่ญาติโยมทั่วไปก็ไม่ทราบว่าพระข้างบ้านเขามีหลวงเจ๊อยู่เยอะ เพราะการจะทราบไม่ใช่ต้องมีเกย์ด้า (สัญชาติญาณอันหนึ่งเป็นตัวกรองว่าคนนั้นคนนี้เป็นเกย์ไหม) แต่ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ พูดคุย หยอกล้อและรู้พฤติกรรมลึกๆ กัน


หลวงเจ๊รูปนี้ชื่อ “หลวงจ๊าบ” (เป็นฉายาที่คนในวัดเรียกกัน ไม่ใช่ฉายาตอนบวชพระ) แกนิสัยดีมาก ขยันทำงานวัด เดินส่ายตูดนิดหน่อย แต่ก็ไม่พอที่จะตัดสินว่าแกเป็นตุ๊ด นี่เป็นเหตุผลที่ชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ว่าแกเป็น กุฏิแกอยู่ติดกับผม และชอบเอาขนมที่บิณฑบาตได้มาให้


ผ่านไปราวหนึ่งเดือนแกมาเคาะประตูเรียกในตอนเย็น ผมก็ระแวงเพราะได้ข่าวแกมาบ้าง เมื่อไม่เปิดแกก็พูดว่า “กับเธอเราให้ได้ทุกอย่าง เอาขนมมาให้ทุกวัน แค่เปิดประตูให้เราเข้าไปนี่ไม่ได้เลยหรอ?” ผมก็ไล่แกไป ซึ่งแกก็ไป หลังจากวันนั้นก็ยังเอาขนมมาให้เรื่อยๆ และก็ยังพูดคุยกันปกติ เมื่อแกรู้ว่าเราไม่ชอบพฤติกรรมนั้นแกก็ไม่ทำกับเราอีก นี่น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่า “ไม่ต้องกลัวตุ๊ดคับ ถ้าเราไม่โอเค เขาก็ไม่ทำอะไร ยังใช้ชีวิตร่วมกันได้”


เพศมันลื่นไหล หลวงเจ๊เป็นได้หยุดได้

จากประสบการณ์ที่อยู่วัดเกือบ 20 ปี ถ้าวัดไหนมีพระเณรสัก 10 รูปขึ้นไป วัดนั้นน่าจะมีหลวงเจ๊อยู่ด้วย และจะมีมากเป็นพิเศษตามสำนักเรียน ช่วงมัธยมที่มีพระเณรราว 100 มีหลวงเจ๊ราว 10 รูป ยังไม่นับคนที่อ้างว่าเป็นชายแทร่และชอบไปคลุกคลีกับห้องหลวงเจ๊นะครับ แต่ความน่าสนใจคือ พระเณรเหล่านี้ (รวมทั้งหลวงเจ๊) หลายคนเมื่อสึกไปก็มีลูกมีเมียตามปกติ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องตามไปสงสัยต่อว่าเขาแอบเมียไปกินผู้ชายอยู่ไหม หากมองว่า “ความชอบทางเพศขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ปฏิสัมพันธ์ สภาพแวดล้อม บทบาทหน้าที่ ฯลฯ


สมัคร์ กอเซ็ม (2017) ก็พบปรากฏการณ์นี้ในปอเนาะ อาจเรียกว่าการ “เล่นเพื่อน” คือการไปมีเซ็กซ์กับผู้หญิงดูจะเลวร้าย มีโทษรุนแรง แต่การเอากับเพื่อนเป็นเหมือนการ “เล่น” ตามประสาเด็ก/วัยรุ่น แบบเดียวกับในวัด ซึ่งไม่ได้ถือว่าร้ายแรงอะไร ตราบเท่าที่ยังทำกันอย่างปกปิด อย่าให้มีหลักฐาน/คลิปหลุดออกมา 


การไม่มีหลักฐานทำให้เอาผิดใครไม่ได้ ผมเองที่เล่ามาจะหนึ่งหน้าแล้ว เอาเข้าจริงยังไม่เคยเห็นพวกเขาเอากันเลยครับ อย่างมากที่สุดก็แค่ได้ยินเสียงเพราะห้องอยู่ติดกัน แต่นั่นเขาอาจแสดงละครตบตา (ตบหู) ผมก็ได้ เพราะเหตุนี้ หากไม่เป็นข่าวตามสื่อจริงๆ ทั้งหลวงเจ๊และหลวงพี่ชายแทร่ก็ปลอดภัยคับ ออ .. แต่ใครที่เป็นแล้วเป็นตลอดไป ชอบแบบเดียว เช่นเดียวกับชายแทร่ หญิงแทร่ เชื่อว่าเพราะถูกสร้างมาให้เป็นแบบนั้นตั้งแต่เกิดก็มีนะคับ ก็เพศมันหลากหลายมากๆ 


หลวงเจ๊ช่วยสืบทอดอายุศาสนา

ถ้าเราเชื่อว่าการบวชช่วยให้ศาสนามีอายุยาวนานขึ้น การมีหลวงเจ๊จำนวนมากมาบวชก็ช่วยศาสนาได้มาก ความสะอาดเรียบร้อยหรือศิลปะในการจัดแต่งดอกไม้เป็นต้น แม้ไม่ใช่สิ่งที่ติดมากับผู้หญิง แต่ก็กลายเป็นคุณสมบัติที่ผู้หญิงถูกเรียกร้องให้ต้องมี ในวัดก็เช่นเดียวกัน พระที่ชอบเรื่องพวกนี้มักจะเป็นหลวงเจ๊ โรงเรียนผมก็สอนผูกผ้าระบายและจัดดอกไม้ ทุกคนจึงทำได้ แต่พอแซวกันว่านี่มันงานหลวงเจ๊ หลายคนก็เลิกทำไปเลย (55)


การดูแลเด็ก ซึ่งเป็นเณรตัวเล็กๆ ช่วยกวาดกุฏิ ซักจีวร สอนหนังสือ เอามานั่งตัก เล่นกับเขาแบบให้ความอบอุ่นเหมือนแม่ คนที่ทำได้ดีก็หลวงเจ๊อีกคับ พวกพระชายแทร่ไม่ค่อยชอบกิจกรรมแบบนี้ ตลอดจนงานเลขาฯ พิมพ์เอกสาร นั่งรถไปส่งหนังสือตามวัดต่างๆ ต้องปฏิสัมพันธ์/ต่อรองกับคน หาโยมแม่ยกรวยๆ หลวงเจ๊ก็ทำได้ดีอีก ย้ำก่อนว่า ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอชอบมีเซ็กซ์นะ (สังคมไทยมีภาพจำทางลบกับตุ๊ด) คือเธอแค่อาจมีพฤติคล้ายผู้หญิงเท่านั้นเอง


เพราะฉะนั้น พวกเธอจึงขับเคลื่อนกิจการศาสนาอยู่ในทุกมิติ ถ้าเรามองว่าพระชายแทร่ถึงจุดหนึ่งเขาอยากสึกไปหาผู้หญิง เพราะมีลูกเมียในวัดลำบาก แต่สำหรับหลวงเจ๊ พวกเธอมีคนรักอยู่ในวัดได้โดยไม่ต้องสึก หลวงเจ๊ท่านหนึ่งห้ามไม่ให้ผมสึกด้วยการพูดว่า “ถ้าไม่อยากแต่งงานมีลูกอย่าเพิ่งสึกเลย อยู่เป็นพระนี่แหละ ดูหลวงพี่สิ ช่วยงานพระศาสนาได้ตั้งเยอะ” คือพวกเธอมองว่ากำลังทำเพื่อศาสนานะ ในขณะที่หลายคนกล่าวหาว่าพวกเธอทำลายศาสนา


วัดเป็นสวรรค์ของเกย์ที่แอปเป็นชายแทร่ได้ดีเลย โยมหลายคนศรัทธาพระพวกนี้ด้วย แอบมีความหวัง/จิตใจกระชุ่มกระชวยที่ได้อุปัฏฐากพระหล่อๆ พวกนี้ โดยที่ไม่ทราบ (หรือจริงๆ ก็ทราบ) ว่าพระเขาชอบผู้ชายมากกว่า เพื่อนพระคนหนึ่งชอบผู้ชาย โดยที่ตัวแกเองก็แมนมาก ความโชคดีคือ พระจะถูกจับจ้องหากไปนั่งคุยกับผู้หญิง แต่แกนี่ไม่มีใครว่าอะไร มีคนขับรถเป็นผู้ชายที่หล่อมาก พามานั่งเล่นกันในกุฏิ ไปไหนกันสองต่อสองก็ได้ กลายเป็นว่า วัดนี่เป็นสวรรค์ของเขาเลย ขณะที่หลวงเจ๊ยังเสียเปรียบ เพราะแค่เดินส่ายตูดก็ถูกจับจ้อง คือต้องปกปิดตัวตนมากกว่า เเต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พระที่เป็นชายแทร่ ชอบผู้หญิงจะเสียเปรียบที่สุด 


หลวงเจ๊ช่วยปอกเปลือกให้เห็นความไม่ยุติธรรมของพระพุทธเจ้า

จริงๆ จนตอนนี้ยังไม่เคลียด้วยซ้ำว่าบัณเฑาะก์คือใคร แต่สังคม โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม ก็ชี้ไปในทางที่ทำให้ตุ๊ดต้องตกเป็นเหยื่อ (สมคิด แสงจันทร์, 2560) คือดูกันแค่พฤติกรรมภายนอก ซึ่งพฤติกรรมภายนอกนี้จริงๆ ก็มองว่าเป็นความหลากหลายของคนที่ขึ้นอยู่กับกรรม (วาสนา) เก่าที่เคยทำมา เช่นพระสารีบุตรชอบกระโดดเหมือนลิง ปิลินทวัจฉะชอบพูดคำหยาบว่า “ไอ้ถ่อย” แต่พวกเขาก็เป็นอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ว่าอะไร ทำไมการที่คนจะเดินส่ายตูด พูดติดสำเนียงผู้หญิงจะถูกมองว่าเป็นวาสนาเดิมแบบนั้นบ้างไม่ได้


ที่ชอบยกมาอ้างคือ พระที่เป็นบัณเฑาะก์ไปชวนคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้ามาเอากัน ทำให้ศาสนาเสียชื่อ พระพุทธเจ้าเลยกำหนดวินัยว่า ห้ามบวชให้บัณเฑาะก์ ถ้าบวชมาแล้วรู้ทีหลังก็ให้สึกซะ (วินัยปิฎก 84000) นี่เป็นความไม่ยุติธรรมมากๆ เพราะเอาพฤติกรรมของคนคนเดียวไปตัดสิทธิคนอื่น เวลาพระผู้ชายมีเซ็กส์ ก็ให้ลงโทษแค่เขาคนเดียว ไม่พูดบ้างว่าต่อไปนี้ห้ามผู้ชายเข้ามาบวชเพราะทำให้เสียชื่อเสียง สรุปคือ ถ้าชาย-หญิง ทำผิดก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าบัณเฑาะก์ทำผิด ให้ตัดสิทธิ์ทั้งวงการ (โดยที่ยังไม่เคลียว่าพวกเธอคือใคร)


ถ้าพระพุทธเจ้าอยากยืนยันความเป็นธรรมจริงๆ ก็ไม่ควรมีปัญหากับเรื่องเพศสภาพของคน และกำหนดวินัยให้เป็นมาตรฐานแบบไม่เลือกปฏิบัติ ใครทำผิดก็ว่าไปตามนั้น นั่นคือ คนที่เข้ามาบวชก็ต้องถือพรหมจรรย์ คือตั้งใจจะไม่มาเอากัน เพราะฉะนั้นจะเป็นเพศไหนก็ได้ ค่อยปรับอาบัติกันตอนไปทำผิด 


แต่เพราะพระพุทธเจ้าหรือศาสนาพุทธก็ปรับตัวตามสังคม มีองค์ความรู้และความกล้าหาญที่จำกัดตามช่วงเวลานั้นๆ ที่สำคัญคือ พุทธะไม่ใช่คนแรกที่ยอมรับให้ผู้หญิงบวช ในอินเดียมีนักบวชพวกปริพาชิกามานานแล้ว กุณฑลเกสีที่เปลี่ยนมาบวชภิกษุณีก็เคยบวชเป็นปริพาชิกามาก่อน และเมื่อพระพุทธเจ้ายอมให้มีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นก็ยังตามมาด้วยการเรียกร้องวินัยที่เคร่งกว่าผู้ชายด้วย 


สิ่งที่ผู้ชายทำแล้วสังฆาทิเสส ผู้หญิงทำต้องปาราชิก รวมทั้งครุธรรม 8 และข้อจำกัดในการบวชของอุปัชฌาย์เพื่อคุมกำเนิดภิกษุณีให้ได้มากที่สุด ซึ่งความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับผู้หญิงและกระเทย/ตุ๊ด/บัณเฑาะก์เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น แค่เรายอมรับว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีองค์ความรู้จำกัด แต่ในตอนนั้นอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่เขาพอจะมองเห็นในการรักษาศาสนาให้อยู่รอดก็ได้ 

 

บทส่งท้าย

ต้องเน้นว่า ไม่ใช่ว่าหลวงเจ๊ทุกคนจะมีเซ็กซ์ เขาอาจแค่เดินส่ายตูด สำเนียงการพูดอ่อนโยน หรือเอาผ้ามาคลุมคล้ายผู้หญิง นั่นเพราะเขาชอบการแสดงออกแบบนั้น ที่วัดผมเคยมีคนหนึ่ง และพระเณรก็ถามแกตรงๆ แบบหยอกล้อว่า “หลวงพี่จะเป็นตุ๊ดทำไม ไม่เห็นจีบใครเลย ใครไปจีบก็ไม่ติด” แกก็ตอบแบบล้อเล่นว่า “ผมมีรสนิยมคับ ไม่ใช่จะเอากับใครก็ได้” ซึ่งแกอาจจะไม่เคยเอากับใครเลยก็ได้ นั่นหมายความว่า แกไม่เคยปาราชิกและยังมีสิทธิบริบูรณ์ในการเป็นพระ


อีกอย่าง อาบัติไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าพระนั้นชั่วมากชั่วน้อยด้วยนะ เช่นเขารักกันและเอากัน ต้องอาบัติปาราชิก โทษหนักที่สุด แต่ถ้าพระรูปหนึ่งเป็นชายแทร่ เกลียดหมา ตีหมาตาย ท่านอาบัติปาจิตตีย์ อาบัติเบาแก้ด้วยการไปสารภาพผิด ทั้งที่พิจารณาจากสามัญสำนึกแล้วแบบหลังดูจะรุนแรง/ขาดจริยธรรมมากกว่า แต่ศาสนาก็คือศาสนา มีบทบัญญัติเฉพาะเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่มันกลับช่วยสร้างภาพที่เป็นอคติในใจคน จนนำไปสู่การตันสิน/ตัดสิทธิ์คนที่เราเชื่อว่าเขาไม่ปกติไปด้วย 


หลวงเจ๊จำนวนมากใจดี พวกเธอชอบเก็บอาหารไว้ให้เณรเพื่อกินตอนเย็น เพราะเห็นว่าเด็กต้องกินอาหารให้ครบ โดยที่พวกเธอเองไม่กิน ช่วยทำงานวัด กวาดขยะ ในขณะที่พระชายแทร่ไม่น้อยไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้

 

จากการอยู่ในวงการผ้าเหลืองที่พระมีอัตลักษณ์ทางเพศหลายแบบ สิ่งที่ผมได้ติดตัวมาไม่ใช่ “เกย์ด้า” นะ แถมเชื่อด้วยว่า เกย์ด้าไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่ได้มาคือ ผู้ชายทุกคนที่เราพบเห็น เขาอาจเป็นอะไรก็ได้ และอาจเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ได้ และทำให้ผมมองว่า “เขาจะดีหรือชั่ว เหมาะสมที่จะเป็นพระหรือไม่ ไม่เกี่ยวอะไรกับเพศที่เขาเลือกแสดงออกเลยคับ”


เขียนโดย

เจษฎา บัวบาล (29 ธันวาคม 2567)

___________________________

อ้างอิง

วินัยปิฎก 84000. เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท. เข้าถึงจาก https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=3481&Z=3608.


สมคิด แสงจันทร์ (2560). เพศวิถี (ที่รอการ) ศึกษาในพุทธศาสนา: ประกายความคิดเรื่องเพศวิถีในพุทธศาสนากับตัวอย่างพระอรหันต์เพศวิถี. เข้าถึงจาก https://www.tcijthai.com/news/2017/11/article/7544.


สมัคร์ กอเซ็ม. (2017). ปอแนใต้ปอเนาะ: ชาติพันธุ์วรรณาย้อนมองดูตัวเองของ “เควียร์มุสลิม” และความทรงจำวัยเด็กในโรงเรียนสอนศาสนา. ประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 4(1), 160-206. เข้าถึงจาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/thammasat_history/article/view/92273.



แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า