Journal of Religious Anthropology

เมื่อได้เรียนรู้โลกข้างนอก ไม่ใช่พระเณรทุกคนที่อยากสึก

หนังเรื่อง Karma ที่ถ่ายทอดเรื่องราวสามเณรีวัชรยานในเนปาลได้ท้าทายวิธีคิดแบบเถรวาทอย่างมาก ที่เชื่อว่าหากปล่อยให้พระเณรคลุกคลีกับชาวบ้าน ใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน เรียนคณะเดียวกับชาวบ้าน ความเป็นสมณะของเขาจะหายไปและสุดท้ายเขาจะสึกไปเสพสุข ไม่อยู่รับใช้ศาสนา ขณะที่หนังเรื่องนี้เสนอว่า การได้ออกไปสัมพันธ์กับโลกข้างนอก จะทำให้เขาเห็นความทุกข์แบบที่พุทธสอนได้มากขึ้น จนเขาอยู่ในศาสนาได้อย่างเข้าใจคนอื่นและมั่นคงขึ้นด้วย


เป้าหมายของหนังอาจแค่อยากชวนคิดว่า ระหว่างประโยชน์ตนและประโยชน์ของสังคมอะไรสำคัญกว่ากัน เหมือนกับข้อถกเถียงที่มีมานานระหว่างเถรวาทและมหายาน นั่นคือควรรีบทำความเพียรให้บรรลุธรรมเพราะตนต้องพึ่งตนเอง หรือควรเป็นโพธิสัตว์ช่วยเหลือสังคม ที่จริงความต่างสองอันนี้เป็นเพียงวิธีคิด (idea) ไม่ใช่การแบ่งนิกาย (sect) เพราะพระเถรวาทที่สร้างประโยชน์เพื่อสังคมก็มีมาก ขณะที่พระมหายานอีกไม่น้อย เช่น Zen ก็มุ่งกับการบรรลุธรรมแบบปัจเจก


การตายแบบวัชรยาน

Karma เป็นหนังที่ทำโดย Mila Productions ออกเผยแพร่ในยูทูปในปี 2563 มีความยาว 1.44.22 นาที เป็นหนังประเภท mission ที่สามเณรีคนหนึ่งต้องทำให้สำเร็จ นั่นคือออกไปทวงหนี้กับชายคนหนึ่งซึ่งเคยยืมเงินวัดไป แต่ในระหว่างการเดินทางไปเมืองหลวงนั่นเอง ที่เธอได้เรียนรู้ (พัฒนาจิตวิญญาณ) และเข้าใจโลกมากขึ้น



พวกเธอใช้ชีวิตในวัดที่มีแต่สามเณรี (nunnery) เจ้าอาวาสซึ่งกำลังจะตายได้ปฏิเสธการกินยา อันนี้ชวนให้มองว่าผู้ป่วยควรมีสิทธิตัดสินใจและเลือกตายอย่างสงบแบบตัวเอง เจ้าอาวาสยังนับประคำอยู่ตลอดเวลา จนเมื่อลูกประคำตก สามเณรีบางคนก็ร้องไห้ขึ้น พวกเธอถูกไล่ออกไป เพราะไม่อยากทำให้ผู้กำลังจะตายต้องเศร้า รองเจ้าอาวาสพูดธรรมะข้างหูเจ้าอาวาสประมาณว่า “ไม่มีใครหนีความตายได้ เราแค่เรียนรู้ เข้าใจและรับมันอย่างสงบให้ได้” 


ที่สำคัญคือ การตายไม่ใช่เรื่องต้องเศร้า เพราะเขาจะไปเกิดใหม่ เป็นเหมือนการย้ายที่อยู่ แล้วดีกว่าเดิมด้วยเพราะร่างเก่าชำรุดแล้ว และประเพณีแบบวัชรยาน เขาไม่ได้หายไปจริงๆ แต่คนสำคัญก็จะถูกตามตัวกลับมาใหม่ เช่นเดียวกับการคัดเลือกดาไลลามะ (แน่นอน บางคนบอกว่าเป็นพิธีกรรมหลอกลวง)


ก่อนเจ้าอาวาสตาย ทางวัดได้ขยายเวลาสวดมนต์ให้นานออกไป ด้วยวัตถุประสงค์ว่า “เจ้าอาวาสจะได้ตายเร็วกว่าเดิม” คือเขารับความตายได้ ฉะนั้นสิ่งที่เขาอยากช่วยคือ ทำให้คนตายไม่ต้องทุกข์ทรมานมาก วิธีคิดแบบนี้สำคัญมาก เพราะจะนำไปสู่ข้อถกเถียงว่า “ชาวพุทธทำการุณยฆาตได้ไหม” 


ไม่ใช่แค่ช่วยเหลือสรรพสัตว์ แต่คือโอกาสในการเรียนรู้

เมื่อเจ้าอาวาสตาย วัดจะต้องจัดงานศพและต้องใช้เงินจำนวนมาก Karma กับเพื่อนสามเณรีอีกคนจึงอาสาไปทวงหนี้เพื่อเอาเงินกลับมาให้ ขณะเดินข้ามสะพาน เพื่อนอีกคนรีบเดินไปให้เร็วที่สุด แต่ Karma ช่วยคนแก่แบบแข่งแอปเปิลมาส่งที่ตีนสะพาน ที่น่าสนใจคือ ยายได้ให้แอปเปิลกับเธอเป็นการตอบแทน แต่ไม่ใช่แค่ลูกเดียว ยายยังให้อีกลูกเพื่อไปฝากเณรีอีกคน (ผู้ซึ่งไม่ได้ช่วยยายด้วย)


ระหว่างทางซึ่งกำลังรอรถบัส ทั้งสองได้เข้าไปดูหนังในโรง อันนี้เป็นความปกติของพระเณรวัชรยานแถวหิมาลัย มีคอมเม้นท์หนึ่งจากศรีลังกาเขียนใต้คลิปว่า เธอไม่เข้าใจว่าทำไมพระศรีลังกาไปดูหนังแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งการได้เรียนรู้โลกข้างนอกมันดีมากๆ คือไม่ว่าจะเป็นหนังประเภทไหน ก็ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์กับคน อันนี้เป็นความต่างกับการดูหนังในห้องตนเอง


พระไทยถูกกีดกันให้ไม่เจอชีวิตแบบข้างนอกให้มากที่สุด แม้แต่ภาษา ยังสร้างคำเฉพาะมาใช้เลย เช่น ฉันข้าว จำวัด อาตมา ฯลฯ โรงพยาบาล สนามบินก็พยายามเรียกร้องให้มีที่เฉพาะของตน เพื่อสร้างความรู้สึกว่าพระไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป จะไปเรียนคณะอื่นๆ ในมหาลัยฆราวาสก็ถูกห้าม ดังนั้น แม้พระเณรจะเข้าถึงโลกออนไลน์ แต่ชีวิตจริงๆ ของพวกเขาคือถูกกันออกจากโลกของคนปกติ (ยกเว้นบางคนจะเปลี่ยนชุดหนีเที่ยว) 


ผลร้ายของการแยกโลก แยกอัตลักษณ์ที่หนักขนาดนี้คือ พระเณรไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าสิ่งนี้ควรทำไหมหากขัดกับจารีต บางทีพระส่วนใหญ่ห่มดอง เราห่มคลุม ก็ยังจะถูกขอให้กลับไปห่มจีวรใหม่เลย ไม่ต้องพูดถึงจีวรคนละสีด้วย เพราะความสวยงามของพระไทยคือ “ต้องเป็นแบบเดียวกัน” ไม่ใช่สวยงามแบบหลากหลาย หรือเวลาน้ำท่วมพระจะออกมาช่วยแจกของ ยังถูกคนพุทธวิจารณ์อยู่เลยว่า “ไม่เหมาะสม” 


ลองจินตนาการนะคับ ประเทศที่เจริญที่ไหนจะออกมาด่าคนแจกของผู้ประสบภัยว่า “คุณเป็นพระ ทำแบบนี้ไม่ได้นะ” นั่นเพราะสังคมไทยสร้างโลก 2 โลกแล้วจินตนาการว่า พระต้องไม่ใช้ชีวิตแบบมนุษยปกติ ซึ่งทำให้พระไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์แบบคนทั่วไป เพราะมีบางอย่างให้ต้องรักษาไว้ นั่นคือ “สมณสัญญา หรือ ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นพระ” ถ้าทำตัวแบบฆราวาส สมณสัญญาจะบินหนีไป


สุดท้าย Karma ได้พบกับลูกหนี้ของวัด ชายคนนั้นพยายามช่วยเหลือเธอตั้งแต่ลงจากรถ (โดยไม่ทราบว่าจะมาทวงหนี้) เเค่เพราะเห็นว่าเป็นคนต่างถิ่นอาจถูกหลอกได้ แต่ Karma ก็ไม่ได้ไว้ใจ สุดท้ายเมื่อไปพักที่บ้าน ก็ได้ทราบว่าเขาทำงานเป็นอาสาสมัครของโบสถ์คริสต์ช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้หญิงที่ถูกหลอกมาขายตัว เขาเอาเงินไปให้โสเภณีที่อยากกลับบ้าน 


จุดพีคของเรื่องคือ เมื่อ Karma ได้เงินมาแล้ว ขณะนั่งในรถบัสกลับ เธอคิดขึ้นมาได้ว่า เงินนั้นควรถูกเอาไปช่วยเหลือคนทุกข์ยาก มากกว่าจะเอาไปจัดงานศพให้เจ้าอาวาส “ผู้ซึ่งตายไปแล้ว” และ เมื่อเธอกลับมาอธิบายให้ทางวัดฟัง ทุกคนก็เห็นด้วยและชื่นชมเธอ


หลุดพ้นจากความทุกข์เพราะบวช จะได้ไม่ต้องมีลูก 

การอธิบายทุกข์ในสังสารวัฏหรือกิเลสมีความซับซ้อน แต่ตัวอย่างง่ายๆ ที่หนังเรื่องนี้เสนอคือ เพราะการเป็นผู้หญิงในแถบหิมาลัยลำบากมาก (นอกจากฐานะที่ยากจนอยู่แล้ว) หลายคนต้องถูกสามีทุบตี ต้องทำงานหนัก ดูแลลูก สามเณรีหลายคนจึงออกบวชด้วยเหตุผลนี้ คือจะได้พ้นทุกข์จากสังสารวัฏ ซึ่งหมายถึง “การมีผัวและมีลูก” Karma ได้พบเห็นและรับฟังเรื่องราวเหล่านี้ในช่วงเดินทาง ซึ่งตรงกับงานวิจัยของ LeVine & Gellner (2007) ที่พบว่า ผู้หญิงเนปาลหลายคนที่มาบวชในเถรวาทก็เพราะเหตุผลนี้


ข้อดี/ข้อด้อยของหนังเรื่องนี้

ข้อดีของเรื่องนี้คือชี้ให้เห็นว่า การได้ออกไปเรียนรู้ชีวิตข้างนอก ใกล้ชิดกับคน ทำให้ Karma เข้าใจโลกมากขึ้น จนเธอเลือกที่จะอยู่ในวัดและปฏิบัติให้เคร่งขึ้นไปอีกได้ ไม่ใช่วิธีคิดแบบง่ายๆ ของไทยที่พระเถระกลัว คือหากพระเณรได้คลุกคลีกับฆราวาส จะทำให้เขาอยากสึกและไม่มีคนดูแลศาสนา


แต่ข้อด้อยคือ หนังได้แบ่งโลกออกเป็นสองมุมที่ชัดเกินไปเหมือนกัน คือชีวิตในวัดมีความสุข ชีวิตนอกวัดมีความทุกข์ คนที่ไม่ยอมฝึกฝนตนเอง ไม่อดทนกับกฎระเบียบเมื่อสึกไปจะต้องไปลำบาก การซึมซับความรู้สึกนี้อาจทำให้พระเณรไม่กล้าสึก แต่ในสังคมที่ยากจนและเหลื่อมล้ำ สิ่งที่หนังพูดก็ไม่ได้เกินความจริงมาก เพราะการออกมาแสวงหาโชคแบบฆราวาสมีคู่แข่งมาก หางานยาก ค่าใช้จ่ายแพง ในขณะที่อยู่ในวัดแม้ต้องเรียนหรือทำงานบ้าง แต่ก็มีอาหารที่พักฟรี



บทส่งท้ายแบบยุยง

อันนี้อาจเป็นเหมือนบทความชิ้นที่สอง ต่อจากเรื่อง “พระหนุ่มเณรน้อย ชีวิตที่เคว้งคว้างภายใต้ร่มศาสนา” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2561 ไม่แน่ใจว่าถ้าจะชวนพระเณรดูหนังเรื่องที่เขียนรีวิวมาจะยังน่าสนใจอยู่ไหมเพราะอ่านสปอยไปแล้ว แต่อีกอย่างที่พระเณรน่าจะทำคือ หาข้อมูลไปเที่ยวหรือไปเรียนต่อในต่างประเทศ เช่นในเอเชียก็ได้ คุณภาพการศึกษาก็อาจพอๆ กับการเรียนในบ้านเรา แต่อย่างน้อยเราจะได้ภาษาอังกฤษและภาษาถิ่นนั้นๆ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ได้เรียนรู้ชีวิตของคนในวัฒนธรรมอื่นจริงๆ 


หารายชื่อมหาลัยพุทธในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ฯลฯ หรือจะเป็นฮ่องกง ไต้หวัน เนปาล หรืออินเดียก็ได้ “ให้ดีคือไม่ควรไปกันเป็นกลุ่ม อย่างมากแค่สองคนก็พอ” เพื่อจะทำให้ได้ภาษาที่นั่นเร็วขึ้น และมีโอกาสมากที่จะอยู่ฟรีด้วย ถ้ามองในแง่จิตวิญญาณ/การปฏิบัติธรรม วัดในประเทศนั้นๆ ก็มีวิธีปฏิบัติ/เคล็ดลับที่เราใช้ฝึกตนได้ หรือหากมองแบบวิชาการทางโลก การได้ไปคลุกคลีกับเขาจริงๆ ทำให้เข้าใจสังคม/วัฒนธรรมเขาอย่างลึกซึ้ง เป็นนักวิชาการที่เก่งได้


สังเกตนะคับ พระไทยจบอินเดียเยอะมาก แต่ไม่ค่อยเห็นใครที่รู้เรื่องการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบลึกจริงๆ แค่กลับมาเป็นนักวิชาการพุทธ เขียนเรื่องอริยสัจสี่ บรรยายเรื่องปรัชญาที่เราก็อ่านได้ตามหนังสือภาษาไทยทั่วไป และที่สำคัญคือ ไม่เข้าใจวิธีคิดแบบรัฐโลกวิสัยที่อินเดียสอน และไม่เข้าใจความหลากหลายของสังคม/ศาสนา ทั้งที่อยู่อินเดียหลายปี นั่นเพราะส่วนหนึ่งคือ “อยู่แต่กับกลุ่มคนไทยและดูข่าวจากทีวีไทย” คับ 


สรุปคือ ไม่ต้องสึกก็ได้คับ แต่อยากให้ออกไปจากเมืองไทย ลองใช้ชีวิตในที่ที่เราไม่คุ้นเคย แบบ Karma ในหนังเรื่องนี้คับ


ดูหนังเรื่องนี้ได้จาก Karma | Full Nepali Movie | Tsering Dolkar, Mithila Sharma, Jampa Kalsang ของช่อง Mila Productions ได้จาก

https://www.youtube.com/watch?v=7_ISjugQr2Y


อ้างอิง

เจษฎา บัวบาล. (2561). พระหนุ่มเณรน้อย ชีวิตที่เคว้งคว้างภายใต้ร่มศาสนา. เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2018/12/80068


LeVine, S., & Gellner, D. N. (2007). Rebuilding Buddhism: the Theravada movement in twentieth-century Nepal. Harvard University Press.


เขียนโดย เจษฎา บัวบาล

17 ธันวาคม 2567



แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า