บทคัดย่อ
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีกหนึ่งร้อยปีถัดไป โดยผู้เขียนเริ่มจากการทำความเข้าใจถึงพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ผ่านการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม รวบรวมและสรุปผลด้วยอคติของตัวเอง ดังนั้น จึงอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้เขียนได้พยายามคาดคะเนความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น โดยอ้างอิงหยิบยกข้อมูลในเหตุการณ์จากซีรี่ย์ภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ Altered Carbon และ Foundation หรืออีกชื่อหนึ่ง สถาบันสถาปนา มาประกอบมุมมองของตัวเอง ผู้เขียนขอแนะนำว่าให้ทุกท่านได้ชมซีรี่ย์อย่างน้อยหนึ่งตอนแรกของทั้งสองเรื่องเสียก่อนเพื่ออรรถรสในการอ่านและนึกภาพตามได้
ในภาพรวมส่วนใหญ่ของบทความนี้ ผู้เขียนมีความตั้งใจเพียงอย่างเดียว ที่จะชี้ให้ผู้อ่านทุกคนได้เห็นวังวนเส้นทางที่มนุษยชาติกำลังเลือกที่จะเดินไปข้างหน้า ได้มีทางเลือกเหลืออีกเพียงไม่มาก เพราะก่อนที่เราจะไปถึงในอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า เรากลับต้องเผชิญเส้นทางที่เรียกว่าวิกฤติครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของโลก ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของทุกอารยธรรมที่เราเคยรู้ ผู้เขียนเองก็ไม่มั่นใจว่า มนุษยชาติจะสามารถเลือกหนทางที่ถูกต้องได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ผู้เขียนรู้ก็คือ ถ้าหากมนุษย์ยังคงเลือกเส้นทางที่ผิด ปลายทางที่รออยู่ ก็คือ ความสิ้นสูญของทุกอณูวิญญาณ ดังนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงได้พยายามที่จะเขียนเพื่อเตือนมนุษย์ไม่ให้เลือกทางเดินที่ผิดพลาดนั้น
ซึ่งถ้าหากไม่ได้เข้าใจถึงกลไกการกระทำของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เข้าใจเลยว่าทำไมมนุษย์ถึงได้มีวิธีคิดที่จะทำลายตัวเองอยู่เรื่อยไปได้อย่างไร แต่ผู้เขียนได้พยายามทำความเข้าใจเรื่องราวและหาสาเหตุด้วยระดับสติปัญญาเพียงน้อยนิด จึงได้สรุปที่มาของเหตุและผล และ สิ่งที่จะเกิดขึ้น ให้ผู้อ่านได้เป็นผู้ตัดสินใจว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
ผู้เขียนขอเสนอเกมส์เล็กน้อยเป็นบททดสอบให้ท่านได้เล่น เมื่อทุกท่านได้อ่านเรื่องราวจบลงแล้ว จะมีสองทางเลือกให้ได้เลือกว่า จะเชื่อในสิ่งที่ผู้เขียนเขียนขึ้นหรือไม่ แต่ปลายทางของคำตอบนั้น ผู้เขียนขอพยากรณ์ไว้ ณ ตรงนี้เลยว่า ‘จะไม่มีใครเชื่อ’ ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าเหตุใดผู้เขียนถึงพูดเช่นนั้น ก็ขอเพียงให้อ่านได้จนถึงบรรทัดสุดท้าย ก็จะพบคำตอบ
“ผมคิดว่าคงมีสักช่วงจังหวะของชีวิตหนึ่งที่เราเฝ้าถามตัวเองว่า “ชีวิตของเราคืออะไร?” แน่นอนว่า ตลอดหลายพันปีนับแต่ยุคสมัยมนุษย์จากแสงแรกเริ่มของรุ่งอรุณ และผมก็เชื่อว่าตราบจนกระทั่งถึงมนุษย์คนสุดท้ายในยามที่สิ้นแสงของดวงตะวัน ก็ยังไม่มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับคำถามนั้น ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องราว ผมขอถามตัวคนอ่านเลยว่า เคยคิดบ้างไหมว่า คำตอบนั้นอาจจะไม่มีอยู่ตั้งแต่แรก?”
แน่นอนว่าไม่ใช่ เพียงแต่ว่า มนุษย์ยังขาดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “ประสบการณ์” เนื่องด้วยมนุษย์ทุกผู้นั้นเกิดมาด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ว่าเกิดมาได้อย่างไร และ จบลงอย่างไร เรารู้เพียงแค่ว่า อยู่ดีๆก็ได้รู้จักบุคคลที่เรียกว่าคุณพ่อคุณแม่ รู้จักญาติพี่น้องเพื่อนสนิท คนรัก และในอีกพริบตาหนึ่งทุกคนก็จากเราไป หรือ ไม่เราก็ต้องเป็นฝ่ายที่จากลาพวกเขาไป และก็ไม่มีใครที่จะรู้ว่า คนที่จากไปจะต้องไปที่ไหนต่อ สิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ คือ ข้อมูลที่เราได้มาจากการสัมผัส ครุ่นคิด พบเจอ และ ลิ้มลอง จนกระทั่งเราเกิดการ “เรียนรู้” และ ส่งผลต่อ“ความคิด” ถ่ายทอดออกมาเป็น “ตัวตน” ทำให้นิยามของชีวิตแต่ละคนนั้นตีค่าความหมายไม่เหมือนกันเลยสักคำตอบ ก็เพราะว่าสิ่งที่ประสบพบเจอนั้นแตกต่างกัน
ดังเช่นทัศนคติ ในมุมมองของเด็ก ผู้ใหญ่ และ วัยชรา มักจะมองเห็นโลกนี้ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เราจึงไม่สามารถที่จะให้นิยามได้อย่างชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วชีวิตของตนเราคืออะไรกันแน่ แต่เราก็อาจจะแบ่งคำตอบแบบหยาบ ๆ ได้อย่างง่าย ๆ 3 ระดับ คือ ชีวิตของคนเราก็คือชีวิต นอกจากการต้องดำรงชีวิตตามวิถีของโลกแล้ว ชีวิตก็ไม่ได้เป็นอย่างอื่น คำตอบนี้ผมคิดว่าน่าจะครอบคลุมนิยามได้มากที่สุด ในระดับที่ ‘เรียบง่าย’ ที่สุด เพราะถ้าคนเราไม่ได้ดำรงตนตามวิถีของโลกนี้แล้ว คนเราก็ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ เช่น เกิดมาไม่กินอะไรเลย ไม่รู้จักการสื่อสาร ไม่อาจขยับเขยื้อนร่างกาย ปราศจากการรับรู้ เป็นเพียงวัตถุที่ตั้งอยู่กับที่ ซึ่งเราก็พบว่า ไม่สามารถที่จะให้นิยามว่านั่นคือชีวิตได้
เราอาจจะบอกว่า แล้วผู้ที่นอนเป็นผักก็ถือว่าไม่มีชีวิตด้วยหรือ แน่นอนว่ามันก้ำกึ่งที่จะบอกว่ามีหรือไม่มี แม้ว่าเราจะยังคงหายใจด้วยเครื่องพยุงชีพ แต่หากไร้สิ้นสติสัมปชัญญะ เราต่างก็ต้องยืนอยู่ท่ามกลางขอบเหวความหวังว่าเราจะตื่นขึ้น หรือ ร่วงหล่นท่ามกลางความสิ้นหวังว่า เราจะต้องหลับไม่ตื่นไปตลอดกาล ดังนั้น ชีวิตจึงยากที่จะถูกนิยามในสภาวะเช่นนั้นได้
ธีม ศาสนากับภาพยนตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่ https://bit.ly/3dWHmcq
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่ https://bit.ly/3dWHmcq