พุทธศาสนาแบบไทยคืออะไร ทำไมจึงอ่อนไหวเปราะบาง?
(มุมมองจากภาษาศาสตร์ปริชาน/จิตวิทยาภาษาศาสตร์)
โดย ส สิงหา
Summary
This article is an attempt to find an explanation to social media outrage in Thailand relative to a commercial production of Thai traditional confectionery, known to the locals as 'Khanom Aa-lua' (ขนมอาลัว), in a form of Buddha amulets. The outrage has raised several questions, in particular why is it that many people are so ready to condemn a harmless creativity when it comes to Buddhism? Why are the people so sensitive about their belief? And what are the causes of such sensitiveness?
Using Conceptual Metaphor Theory, the author looks into two ubiquitous conceptual metaphors in Thai culture, namely BUDDHISM IS A TRELLIS OR POLE FOR THE MIND and NATION, RELIGION, AND MONARCHY ARE MAIN PILLARS OF SOCIETY. The investigation shows that these two conceptual metaphors have complex structures and arise from bodily experiences. And because they are grounded in the bodily experiences in such a way that one's existence is understood as depending on them utterly, they carry strong feelings and emotions with them.
Keywords: Buddhism, Conceptual Metaphor, Embodiment, Cognitive Linguistics พุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ปริชาน จิตวิทยาภาษาศาสตร์ จิตอุปลักษณ์
1. คำถามค้างคาใจ
ในช่วงปี 2564 เกิดมีดราม่าเรื่องหนึ่งทางโซเชียลมีเดีย เรื่องของเรื่องก็คือว่ามีแม่ค้าคนหนึ่งทำขนมอาลัวขายทางออนไลน์ โดยที่ขนมดังกล่าวได้รับการออกแบบให้เป็นรูปพระเครื่องแบบต่างๆ ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างสูงจากลูกค้าเพราะมีลักษณะสวยงาม แปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใคร เมื่อภาพขนมถูกเผยแพร่ทางเฟสบุ๊คก็ได้เกิดมีกระแสต่อต้านอย่างแรงจากหลายฝ่าย ทั้งจากภาคประชาชนและภาครัฐ หลายคนแสดงความคิดเห็นว่าที่นี่ประเทศไทย การทำอย่างนี้ไม่เหมาะสมเพราะพระพุทธรูปเป็นของสูง เป็นสิ่งที่่คนเคารพบูชา ทำไมต้องเอาความเชื่อของคนมาทำแบบนี้ อีกหลายๆคนก็แสดงความวิตกกังวลว่าถ้าขนมแตกหักขึ้นมา หรือถูกโยนลงถังขยะ หรือถูกหมาแมวคาบไปกินจะทำอย่างไร ส่วนสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติก็ชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม ทำแบบนี้ไม่ได้ รูปพระเครื่องถือเป็นวัตถุมงคล เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าเพื่อใช้สักการะบูชา ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ แต่มันเป็นเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำอย่างนี้ไม่เหมาะสมแน่นอน และทางสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติก็ได้ออกหนังสือเตือนไปยังผู้ผลิต ซึ่งก็ได้ยุติการผลิตลงในที่สุด ถึงแม้กระแสของการวิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าวอาจแผ่วลง แต่สำหรับผู้เขียนเองหรือหลายๆ คนก็คงมีคำถามค้างคาใจว่าทำไมพุทธศาสนาของไทยนั้นช่างอ่อนไหวเปราะบางจังเลย เพียงแค่คนใช้ความคิดสร้างสรรค์สรรค์สร้างงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาซึ่งจุดประสงค์อาจออกนอกกรอบจารีตนิดหน่อยก็ถูกโจมตีทันที ทำไมศาสนาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และความละเอียดอ่อนจริงๆ แล้วหมายถึงอะไรกันแน่ ทำไมความละเอียดอ่อนนั้นจึงมีอิทธิพลต่อวิธีการคิดของคนและสามารถกําหนดได้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ?
2. เล่าสู่กันฟังเรื่องการศึกษาในปัจจุบันเกี่ยวกับวิธีคิดและวิธีทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ หรือจิตของมนุษย์ (แบบคร่าวๆ)
กรณีดังกล่าวข้างต้นทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดของผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันท่านหนึ่งทางสาขาวิชาภาษาศาสตร์ และ วิธีการคิด การสร้างความหมายและความเข้าใจของมนุษย์หรือ cognitive linguistics และ cognitive science ชื่อ George Lakoff (Prof. Ph.D) เขากล่าวว่ามนุษย์ไม่สามารถคิดได้ถ้าไม่มีสมอง และเขาพิสูจน์ว่าความคิดของมนุษย์นั้น98% หรืออาจมากกว่านั้นด้วยซ้ำ เป็นสิ่งที่ไม่รู้ตัว สิ่งที่เรารู้ตัวหรือสิ่งที่เราคิดว่าคือเหตุผลที่รู้ตัวนั้นเป็นเพียงหยิบมือแค่นั้นเอง เขาเน้นว่าถ้าคุณคิดว่าคุณรู้ตัวว่าคุณคิดอะไรนั้นคุณเข้าใจผิด ดังนั้นอาจมีความเป็นไปได้ที่ดราม่าที่กล่าวมาข้างต้นจะมีมูลเหตุมาจากสิ่งที่คนเราไม่รู้ตัว เขายังได้เน้นย้ำอีกว่าความเข้าใจและความคิดเห็นเกี่ยวกับอะไรต่างๆ ของมนุษย์แต่ละคนนั้นมีโครงสร้างเป็นรูปเป็นร่างอยู่ในสมอง ถ้าคนๆ นั้นไม่มีโครงสร้างในสมองที่ใช้ในการเข้าใจสิ่งใดๆ เป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่คนๆ นั้นจะเข้าใจเรื่องนั้นๆ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าโครงสร้างวิธีการคิดของมนุษย์อย่างหนึ่งนั้นจะมีลักษณะเป็นจิตอุปลักษณ์ซึ่งเขาเรียกว่า conceptual metaphor โดยจิตอุปลักษณ์มีบทบาทสำคัญในวิธีการคิดและการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนามธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ไม่มีโครงสร้างที่แน่ชัด จิตของมนุษย์จึงไม่สามารถเข้าใจได้โดยตรง ดังนั้นจิตอุปลักษณ์จึงมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการคิดของมนุษย์ (George Lakoff: 2018) และเนื่องจากบทความนี้มุ่งจะแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาซึ่งเป็นนามธรรม ผู้เขียนจึงจะให้ความสำคัญแก่จิตอุปลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใจนามธรรมเท่านั้น
(หมายเหตุ: จิตอุปลักษณ์คือคำที่ผู้เขียนกำหนดขึ้นมาเองโดยพิจารณาจากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบันและการค้นพบเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีคิดและวิธีทำความเข้าใจของมนุษย์ และผู้เขียนเชื่อว่าบุคคลทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ เพราะน่าจะมีพื้นฐานความเข้าใจอยู่แล้วไม่มากก็น้อยในเรื่องโวหารภาพพจน์ เช่น สัญลักษณ์ อุปลักษณ์ อฺปมาอุปไมย นามมัย บุคลาธิษฐาน ฯลฯ แต่เพื่อเน้นย้ำถึงผลจากการศึกษาค้นคว้าที่ชี้บอกถึงความเกี่ยวโยงในการเป็นโครงสร้างของความคิดความเข้าใจของมนุษย์ ผู้เขียนจึงเลือกใช้คำว่า จิตอุปลักษณ์ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ ส่วนคนอื่นจะใช้คำวิลิศมาหลาอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องของเขา ตามแนวคิดเดิมนั้นอุปลักษณ์ถูกมองว่าเป็นเพียงภาษา หรือภาษาของกวีผู้มีความสามารถพิเศษกว่าคนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด และอุปลักษณ์เดิมนั้นก็ขาดแง่มุมของการเป็นโครงสร้างของจิตและวิธีคิดและไม่มีมูลเหตุแรงจูงใจที่มาจากประประสบการณ์ทางกายของมนุษย์เป็นพื้นฐาน ส่วนการใช้ตัวอักษรแบบตัวหนา นั้นเพื่อแสดงว่าสิ่งที่เขียนนั้นไม่ใช่ตัวภาษาโดยตรง แต่เป็นตัวแทนของโครงสร้างของจิตและวิธีคิด ซึ่งส่วนใหญ่มีขึ้นและทำงานโดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือจะเรียกว่าจิตใต้สำนึกก็น่าจะได้ อีกอย่างเมื่อผู้เขียนพูดถึง จิต ความคิดความเข้าใจ วิธีการคิดวิธีการทำความเข้าใจ ขอให้เข้าใจว่าคือสิ่งเดียวกัน ใช้แทนกันได้)
อ่านบทความฉบับเต็มได้จาก https://cutt.ly/A2wELQa
ที่มาของภาพ https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_179305