Journal of Religious Anthropology

ทำไมต้องปล่อยวาง หากเรารับมันได้: 404 สุขนิรันดร์ RUN RUN หนังที่ตั้งคำถามต่อคำสอนพุทธศาสนา



404 สุขีนิรันดร์ RUN RUN เป็นหนังไทยแนวผีตลก โดย GDH ผลงานกำกับของ พิชย จรัสบุญประชา ฉายครั้งแรกในปี 2567 บทความนี้จะชวนดูการเสนอแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับความรักและการยึดมั่นถือมั่นตามหลักศาสนาพุทธ ซึ่งจะเสนอว่า เมื่อเทียบกับ นางนากและพี่มากพระโขนงแล้ว หนังเรื่อง 404 สุขนิรันดร์ฯ ได้ขยับไปอีกขั้นในแง่ของการท้าทายคำสอนเรื่อง “ความยึดมั่นถือมั่น”


ไม่ใช่แค่สะท้อนความทุกข์ของผู้หญิง หนังผียังช่วยเผยแผ่พุทธศาสนา

นางนาก ผลงานการกำกับของ นนทรีย์ นิมิบุตร ในปี 2542 เป็นเวอชั่นมีชื่อเสียงอย่างมาก Arnika Fuhrmann (2016) เสนอว่าหนังได้เน้นให้เห็นถึงความทุกข์หรือโศกาอาดูรของผู้หญิง (รวมทั้งเพศทางเลือกอื่นๆ) ในสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุดผู้หญิงหรือนางนากจะพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยการถูกสั่งสอนให้เข้าใจสัจธรรมเรื่องการปล่อยวางของพุทธศาสนา และสอน (ปราบ) โดยพระผู้ชาย  


ทั้งนี้ ความทุกข์ที่เกิดจากความผิดหวังเรื่องความรัก การสูญเสีย ฯลฯ ช่วยสร้างผีผู้หญิงขึ้นมาต่อต้านหรือตามหลอกหลอนผู้ชายและคนอื่นๆ ในสังคมด้วย (ธนวัฒน์ ปัญญานันท์, 2563) เพราะไม่มีอำนาจต่อรองในฐานะมนุษย์ การต้องกลายร่างเป็นผี/อสุรกายของผู้หญิงจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่พวกเธอใช้ต่อรอง แต่การตามมาแก้แค้นหรืออยากอยู่กับสิ่งที่ตนรักให้นานที่สุดก็ถูกวิจารณ์ว่าก่อทุกข์ ไม่ยอมไปผุดไปเกิดตามความเชื่อแบบพุทธไทย


ท้าทายกรอบคิดเรื่องผีกับคนว่าอยู่ร่วมกันไม่ได้

พี่มากพระโขนง (2556) กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล ให้อีกมุมมองในการนำเสนอ คือให้เห็นว่าไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้นที่รักมั่น ผู้ชายหรือพี่มากเองก็ยอมแสแสร้งทำเป็นไม่รู้ความจริง ทั้งที่ตนทราบมานานแล้วว่านางนากเป็นผี ความรักของทั้งสองทลายกรอบคิดเรื่องผีกับคนต้องอยู่กันคนละโลก (อิทธิพล วรานุศุภากุล, 2558) หนังเรื่องนี้ท้าทายคำสอนพุทธว่า “เราไม่จำเป็นต้องปล่อยวาง แค่สองคนเข้าใจกันก็อยู่กันอย่างมีความสุขได้” ในเรื่องนี้แม่นากจึงไม่ถูกปราบโดยสมเด็จโตฯ 


ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ เพราะการคิดนอกกรอบ (ผีกับคนอยู่ด้วยกันได้) เป็นเรื่องใหม่ที่ดูขัดกับแนวคิดกระแสหลัก ซึ่ง คนมองหนัง (2556) เสนอว่า คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่รับได้กับวิธีคิดนี้ ในตอนท้ายของเรื่องจึงเป็นฉากของชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อขับไล่นางนากออกไปจากหมู่บ้าน นั่นหมายถึงสภาวะที่คนคิดต่างทางการเมืองต้องถูกไล่ออกไปจากบ้านหลังนี้หรือประเทศนี้


ฉันจะปล่อยเธอ แต่ฉันจะไม่ปล่อยวาง

หนังเรื่อง 404 สุขนิรันดร์ฯ เป็นหนังผีอาลัยรักเช่นกัน แต่ต่างกับนางนากและพี่มากตรงที่ผีผู้หญิงในเรื่องนี้รักเขาอยู่ข้างเดียว ลลิตาพยายามจะยื้อผู้ชายไว้ แม้เขาจะตายไปแล้วเธอก็จะยังมัดขาเขาไว้ให้อยู่เป็นวิญญาณกับเธอผู้ซึ่งฆ่าตัวตายตามเขาไป ทุกๆ สี่ทุ่มพวกเขาก็จะต้องตายอย่างนั้นซ้ำๆ ตามแบบความเชื่อพุทธไทยที่นำเสนอเพื่อให้คนไม่ฆ่าตัวตายหรือต้องปล่อยวางเพื่อไปเกิดให้ได้


นักรบและเพื่อนๆ ช่วยให้ผีลลิตาเข้าใจว่าความรักคือการต้องปล่อยให้เขาไป/ทำในสิ่งที่ตนชอบ สุดท้ายลลิตาก็ปล่อยสามีของเธอไป หนังฉายให้เห็นฉากที่สามีของเธอถือกระเป๋าเดินออกจากโรงแรมไปสู่แสงสว่าง (การเกิดใหม่) ขณะที่เธอเองยืนยันว่าอยากอยู่ที่นี่ ไม่ขอไปเกิด เพราะเธอผูกพันธ์กับที่นี่และมันเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่เธอมีตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นหมายความว่า เธอยินดีที่จะรับกับการฆ่าตัวตายซ้ำๆ ทุกสี่ทุ่มต่อไป


ศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะที่สอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเช่นพุทธ จะเน้นเรื่องจิตก่อนตายอย่างมาก  จึงมีคำสอนเรื่องการต้องรับมือกับความตายหรือเรียกว่า “ตายอย่างสง่างาม” (พัทธ์ธีรา วุฒิพงษ์พัทธ์, 2559) เราจึงมักได้ยินว่า อาจารย์ผู้สอนสมาธิหรือครูสอนศาสนาคนนั้นๆ ก่อนตายเขามีอารมณ์แจ่มใส หน้าตายิ้มแย้ม เพื่อสื่อว่าเขาเข้าใจสัจธรรม ปล่อยวาง และจะไปสู่สุคติ ซึ่งเป็นตัวอย่างชาวพุทธที่ดีผู้ตายด้วยสติสัมปชัญญะ


การเชื่อแบบนี้นำไปสู่การตีตราคนฆ่าตัวตายเป็นต้นว่าต้องตายด้วยความทุกข์ ผิวพรรณไม่ผ่องใส ปล่อยวางไม่เป็น ตายแล้วอาจไปทุคติ ฯลฯ ซึ่งหนังเรื่องนี้เสนอว่า เราไม่จำเป็นต้องปล่อยวางหรือไปเกิดในแบบที่พุทธสอน


พูดอีกอย่างคือ ลลิตาปล่อยสามีของเธอไป เพราะเห็นใจว่าเขาควรได้ในสิ่งที่เขาเลือก เป็นวิธีคิดเดียวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ที่จะไม่ละเมิดชีวิตคนอื่น แต่ลลิตาไม่ซื้อแนวคิดเรื่องการปล่อยวางแล้วไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดีกว่าเพื่อพัฒนาตนเองให้บรรลุธรรมให้ได้ ถ้ามองด้วยสายตาของศาสนิก ลลิตาไม่ฉลาดเลยที่ยังเลือกอยู่กับความทุกข์หรือจมกับอดีต แต่ใครจะทราบได้ล่ะ ว่าเธอมีความทุกข์จริงหรือเปล่า หรือเธอคุ้นชินกับความทุกข์นั้นแล้วจนรับมันได้ ตามความหมายของคำว่า “สุข ที่แปลว่า ทนได้ง่าย”


ความสุขและทุกข์ของคนไม่เท่ากัน เหตุการณ์เดียวกัน คนหนึ่งอาจรู้สึกว่าทุกข์มาก แต่สำหรับอีกคนกลับรู้สึกว่าไม่มาก ฉะนั้นเราจึงตัดสินความรู้สึก การกระทำและการเลือกของคนอื่นว่าผิดไม่ได้ ซึ่งการตัดสินคนอื่นมักมาจากกรอบคิดทางศาสนาที่เชื่อว่าคำสอนตัวเองจริงแท้เป็นสากลที่สุด จนนำไปสู่การต้องสอนให้เชื่อแบบเดียวกัน รู้สึกแทนคนอื่นว่าเขาน่าจะทุกข์มาก เราต้องเป็นพระโพธิสัตว์ไปช่วยเขาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มองเห็นทุกข์ (แบบที่เราเชื่อ) และช่วยปลดปล่อยเขาจากความทุกข์ (ที่เราเชื่อ) ให้ได้


หนังเรื่องนี้สะท้อนวิธีคิดแบบสิทธิมนุษยชน คือเคารพคนอื่นด้วยการไม่ละเมิดชีวิตเขา แต่ก็สมาทานความเชื่อแบบโพสโมเดิน คือเราไม่จำเป็นต้องนิยามความสุข ความดี เป้าหมายของชีวิตแบบที่ศาสนาพุทธสอน ลลิตาพอใจที่จะเป็นแบบตัวเอง เป็นผีที่มีสุขบ้าง ทุกข์บ้างตามวิถีของตน และหนังก็จบลงด้วยฉากที่ลลิตาอยู่ในบ้านของตัวเอง ไม่เบียดเบียนใคร 


เขียนโดย เจษฎา บัวบาล

7 เมษายน 2568

.......................................

อ้างอิง

Fuhrmann, A. (2016). Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema. Duke University Press.


คนมองหนัง. (2556). พี่มากพระโขนง. เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2013/04/46210


พัทธ์ธีรา วุฒิพงษ์พัทธ์. (2559). การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองตามความเชื่อทางศาสนาและความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต. Veridian E-journal Science and Technology Silpakorn University, 3(6), 149-161. เข้าถึงจาก https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/VESTSU/article/view/75844


ธนวัฒน์ ปัญญานันท์. (2563).อสุรกายรัก: การเมืองเรื่องความรักและความโศกเศร้าอาลัยของผู้ชาย ต่อ (ผี) ผู้หญิงใน นางนาก พี่มากพระโขนง แสงกระสือ และ ส่งต่อ. วารสารการสื่อสารและสื่อบูรณาการ, 8(1), 161–195. สืบค้น จาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/masscomm/article/view/239852


อิทธิพล วรานุศุภากุล. (2558). การเล่าเรื่องของ พี่มากพระโขนง และสัมพันธบทความเป็น แม่นาคพระโขนง สู่ พี่มากพระโขนง. วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม, 3(2), 25–38. สืบค้น จาก https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jcosci/article/view/93093


ภาพจาก: https://movie.kapook.com/view285493.html


แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า