Journal of Religious Anthropology

มหาทุคตะโมเดล: ต้นแบบการผลิตซ้ำเรื่องผลบุญของพุทธเถรวาทซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการมองปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง

โดย วิวัฒน์ กรกิจ

บทคัดย่อ

บทความนี้ชวนอ่านนิทานธรรมบทเรื่อง ปัณฑิตสามเณร ผู้ซึ่งเคยเกิดเป็นคนยากจนที่รู้จักกันในชื่อ “มหาทุคตะ” ในฐานะเป็นเรื่องราวหนึ่งที่ผลิตซ้ำความเชื่อเรื่องการหลุดพ้นจากความยากจนด้วยการทำบุญในพุทธศาสนา โดยตั้งคำถามว่า มุมมองเช่นนั้นส่งผลต่อการมองปัญหาความยากจนในสังคมสมัยใหม่อย่างไร ด้วยวิธีวิเคราะห์ตัวบท (textual analysis) บทความนี้เสนอว่า นิทานธรรมบทเป็นเรื่องเล่าที่นิยมในสังคมไทย โดยผู้นำเสนอมักเป็นพระมหาเปรียญ ที่ได้ผ่านการเรียนอรรถกถาธรรมบทในหลักสูตรบาลีสนามหลวง อย่างไรก็ตาม เรื่องราวประเภทนี้ไม่ควรถูกมองว่าเป็นคัมภีร์ชั้นรอง (อรรถกถา) หรือเรื่องเล่าที่แต่งเติมกันชั้นหลังเท่านั้น เพราะการพูดเช่นนี้เท่ากับเชื่อว่า พุทธศาสนาดั้งเดิมที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหรือพุทธวจนะ (ชั้นปฐมภูมิ) จะเป็นสิ่งบริสุทธิ์และดีงามทุกอย่าง บทความนี้เสนอว่า แม้เรื่องราวของปัณฑิตสามเณรจะเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์หรือการเล่าเรื่องจากอรรถกถา แต่วิธีคิดที่เป็นแกนหลักกลับผูกโยงหรือสามารถสาวไปถึงพุทธวจนะได้ เนื้อเรื่องที่นำเสนอถึงสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาความยากจนที่เชื่อมโยงกับบุญเก่าและผู้มีบารมีมาโปรด กลับเข้ากันได้ดีกับสังคมไทยที่พุทธศาสนาสอนให้ไม่มองปัญหาความยากจนที่ตัวโครงสร้าง แต่ผู้คนควรหันเข้าหาศาสนาและบริจาคทานเพื่อรอผลอันจะเกิดขึ้นข้างหน้าแบบปัจเจก และการแก้ปัญหาจากรัฐก็มักเป็นการให้ทานและสุ่มช่วยเหลือราวกะการเปิดโอกาสให้คนจนได้ชิงโชคและสำนึกถึงบุญคุณเช่นเดียวกับการโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้า


เกริ่นนำ

เรื่องราวของชายยากจนหรือที่รู้จักกันในชื่อ “มหาทุคตะ” อยู่ในเรื่อง “ปัณฑิตสามเณร” ปรากฏอยู่ในอรรถกถาธรรมบท ปัณฑิตวรรคที่ 6 (84000, ก) เรื่องนี้น่าจะมีเป้าหมายหลักตรงที่จะนำเสนอชีวิตของเณรน้อยที่อายุเพียง 7 ขวบ แต่ฉลาดมากจนสามารถบรรลุธรรมได้หลังบวชเเค่ 7 วัน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่โครงเรื่องถูกวางไว้ให้แตกต่างจากนิทานส่วนใหญ่ คือเรื่องทั่วไปมักจะเป็นการเล่าเรื่องราวของชาติปัจจุบันก่อน จากนั้นพระพุทธเจ้าก็มาชี้แจงว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะชาติที่แล้วเขาทำอะไรมา ดูเรื่องราวของสามาวดี (84000, ข) และ วิฑูฑภะ (84000, ค) เป็นต้น แต่เรื่องปัณฑิตสามเณรกลับนำเสนอเรื่องราวเมื่อชาติที่แล้วก่อน เสร็จแล้วโยงมาปัจจุบัน ว่าผลบุญนั้นๆ ที่เขาทำได้ส่งผลอย่างไรบ้าง เป็นการนำเสนอแบบไม่ซับซ้อนตามกาลเวลาที่เกิดขึ้น จนดูเหมือนว่า “อดีตจะถูกเน้นย้ำมากกว่าปัจจุบัน” เพราะเรื่องราวถูกนำมาเสนอไว้ก่อนอย่างละเอียด และบทความนี้จะเสนอว่า คนไทยจดจำเรื่องราวของมหาทุคตะได้มากกว่า ปัณฑิตสามเณร แม้ชื่อของมหาทุคตะ จะไม่ติดหูมากนัก แต่คำสอนหรือไอเดียของเรื่องนายทุคตะ วนเวียนอยู่ในระบบความเชื่อ/คำสอนของชาวพุทธในปัจจุบันอย่างปฏิเสธไม่ได้

เรื่องย่อของมหาทุคตะ

สมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า ได้มีการถวายทานแก่พระอรหันต์ 20,000 รูปที่เมืองพาราณสี พระพุทธเจ้าได้อนุโมทนาว่า คนที่บริจาคทานคนเดียว ไม่ชวนคนอื่นทำบุญ ชาติต่อไปเขาก็จะมีทรัพย์แต่ไม่มีบริวาร คนที่ชวนคนอื่นทำบุญแต่ตัวเองไม่ทำ ชาติต่อไปก็จะมีบริวารแต่ยากจน ส่วนคนที่ทำบุญเองด้วย ชวนคนอื่นทำด้วย เขาก็จะมีทั้งทรัพย์และบริวารในชาติต่อๆ ไป ชายคนหนึ่งฟังแล้วเลยเกิดแรงบันดาลใจ นิมนต์พระทั้งหมดเพื่อที่ตนจะชวนคนในหมู่บ้านมาร่วมทำบุญด้วยกัน เขาชักชวนชาวบ้านและจับจองกันว่าใครจะรับพระไปกี่รูป เขาได้ชวนชายยากจนคนหนึ่ง หรือที่เรียกว่า มหาทุคตะ ด้วยและชายยากจนก็รับไปหนึ่งรูป 

มหาทุคตะกับภรรยาเห็นตรงกันว่า ที่พวกเขายากจนเพราะไม่ได้บริจาคทานไว้เมื่อชาติที่แล้ว จึงทำงานรับจ้างอย่างหนักเพื่อจะเอาเงินไปเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้น และถือเป็นโชคดีมาก ที่พระรูปนั้นที่จะมาบ้านเขาคือพระพุทธเจ้า ท้าวสักกะ (หัวหน้าเทวดา) เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า จึงปลอมตัวมาช่วยปรุงอาหารเพื่อตนจะได้บุญด้วย และเมื่อถวายอาหารพระพุทธเจ้าเสร็จ รัตนะคือ เงิน ทอง เพชร พลอย ฯลฯ ก็ตกลงจนเต็มบ้านของมหาทุคตะ สุดท้ายเขาก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีของเมือง และพ้นไปจากความยากจน

เมื่อตายไปก็ไปเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขในสวรรค์ และต่อมาก็ได้มาเกิดในตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตร ชื่อว่า ปัณฑิต ได้บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 7 ขวบและบรรลุอรหันต์อย่างรวดเร็ว ในวันบรรลุธรรม ขณะเดินบิณฑบาต เขาได้เห็นคนทดน้ำเข้านา คนดัดลูกศร คนถากไม้ และน้อมเข้ามาพิจารณาว่า น้ำ ลูกศรและไม้ยังสามารถถูกดัด/นำไปใช้ประโยชน์ได้ ทำไมมนุษย์จะไม่สามารถฝึกตนได้ จึงขอกลับมานั่งสมาธิที่วัด ท้าวสักกะก็มาปกป้องคุ้มกันด้วยการสั่งให้เทพอื่นๆ มาช่วยไล่นก ไม่ให้ส่งเสียงร้องรบกวนสมาธิ พระพุทธเจ้า (โคตมะ) ก็มาดักรอสนทนากับพระสารีบุตร เพื่อถ่วงเวลาให้สามเณรไม่ถูกรบกวน ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกอธิบายว่า เป็นผลบุญของการถวายทานไว้ตั้งแต่สมัยเป็นมหาทุคตะนั่นเอง


การเรี่ยไรในฐานะตัวเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคม

หากจะกล่าวว่า นิสัยที่ชอบเรี่ยไรของชาวพุทธมาจากเรื่องนายทุคตะก็ไม่น่าจะผิด พระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นคนเทศน์สอนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ว่าการทำบุญที่ไม่ชักชวนผู้อื่นจะไม่ได้บริวารสมบัติ การทำบุญในพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นปัจเจกที่ใครอยากทำก็ทำกันลับๆ แต่เป็นการต้องชักชวนเพื่อนฝูงหรือแม้กระทั่งคนที่ไม่รู้จักให้ร่วมทำบุญด้วย จนหลายครั้งการถูกชักชวนหรือถูก “บอกบุญ” กลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ แต่จะปฏิเสธหรือวิพากษ์ก็ไม่ได้ เพราะจะถูกมองเป็นพวกคนชั่ว (ปฏิเสธบุญกุศลซึ่งเป็นเรื่องดีงาม ในทัศนะของศาสนิก) 

คำว่า “บริวาร” หมายถึงอะไรแน่ในทัศนะของคนไทย? สมัยที่ผมเป็นพระเรียนระดับปริญญาตรี เพื่อนคนหนึ่งชื่อ มหารัตนา ปฏิเสธที่จะทำบุญงานทอดกฐินของที่หนึ่งด้วยมุกตลกว่า “ผมไม่ทำบุญกับท่านนะครับ เพราะถ้าทำ ชาติหน้าผมต้องเกิดเป็นลูกน้อง (บริวาร) ท่าน ผมค่อยหาโอกาสทำบุญที่อื่นๆ ด้วยตัวเองดีกว่า จะได้ไม่เป็นลูกน้องใคร” ถ้าดูตามรูปศัพท์ ปริวาร คือ คนแวดล้อม อาจเทียบได้กับพระราชาที่ไปไหนก็มีคนแวดล้อมที่จริงพุทธศาสนาเถรวาทเองดูจะระวังเรื่องนี้ เพราะแบบที่มหารัตนาพูด หากเราถูกชวนทำบุญแล้วไปเกิดเป็นบริวารคนที่มาชวน ใครเล่าจะอยากทำบุญเพื่อไปเกิดเป็นทาสคนอื่น ต่อให้เป็นสวรรค์ก็ตาม เรื่องเล่าในพุทธศาสนาจำนวนมากจึงเสนอออกมาในแง่ที่ว่า เขาไม่ได้ไปเกิดเป็นบริวารใครหรอก เช่นเดียวกับนายมหาทุคตะ และถ้าเขาเองจะมีบริวาร บริวารก็ดูเหมือนจะเป็นของทิพย์ที่ผุดมีขึ้นเพราะบุญ

บริวารในสังคมไทยอาจจะหมายถึง “เพื่อนฝูง” ได้ด้วย แบบที่ไปกินไปเที่ยวด้วยกัน ในลักษณะเกาะกลุ่มที่ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นศูนย์กลาง ถ้าแปลแบบนี้ก็อาจตรงกับเป้าหมายของการเรี่ยไรที่มองได้ว่าเป็นกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์อันหนึ่งที่เราจะชักชวนคนรู้จักให้ร่วมด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่รับเป็นเจ้าภาพใหญ่ จะได้รับเกียรติหรือหน้าตามากกว่าบริวารหรือคนที่ร่วมทำบุญมา เช่นตัวอย่างของการมีชื่อตนในซองกฐินหรือการมีป้ายชื่อติดเสาว่า “บริจาคโดย นายทองแดงและคณะ” ดังนั้น การทำบุญในลักษณะนี้ก็ปฏิเสธบริวารหรือคนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือไปไม่ได้ ในฐานะที่ตนได้ประโยชน์เต็มๆ ขณะที่ผู้ร่วมบริจาคเป็นเพียง “คณะของ …” 

หากมองในมุมคุณงามความดีล้วนๆ ก็เป็นไปได้ว่า บางคนที่ชอบชักชวนคนอื่นทำบุญ อาจไม่ได้หวังบริวาร แต่มองว่าตนเสียสละและพร้อมจะประสานงานให้งานบุญนั้นๆ สำเร็จ ช่วงหลังมาคนประเภทนี้ถูกเรียกว่า “สะพานบุญ” คือเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้ทำบุญ ซึ่งก็ทำให้เขาได้บุญมากขึ้นไปอีก แบบที่ศาสนาเรียกว่า ไวยยาวัจจมัย และ ปัตติทานมัย (84000, ง) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเจตนาเขาจะอยากได้บุญเป็นพิเศษหรือไม่ แต่การทำตัวเป็นสะพานบุญหรือชักชวนคนอื่นทำบุญ ก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นคนมีคุณธรรมแบบเถรวาท และอาจเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนฝูงในสังคมประเภทนี้ ซึ่งก็เท่ากับช่วยสานสัมพันธ์ไว้หรือสร้างเครือข่ายของคนดีในแบบเดียวกับวิธีคิดเรื่อง “บริวาร” นั่นเอง พูดอีกอย่างก็คือ เราอาจสรุปยากว่าคนทำบุญเพราะเขาเชื่อเรื่องผลบุญหรือโลกหน้าจริงไหม ดังนั้นจึงไม่ควรมองแต่แง่มุมด้านความเชื่อ แต่ยังมีมุมของความสัมพันธ์ทางสังคม คือการทำบุญเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้คนได้มาพบเจอ สร้างเครือข่าย สร้างอัตลักษณ์ความเป็นคนดี และอำนาจนำในฐานะผู้บริจาคมากกว่าหรือเป็นสะพานบุญให้กิจกรรมนั้นๆ สำเร็จได้ 


อ่านบทความฉบับเต็มจาก  https://cutt.ly/A2wELQa

ภาพจาก https://www.winnews.tv/video/27150    

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า