Journal of Religious Anthropology

ศาสนาเป็น Safe Zone ป้องกันการเปลี่ยนแปลงของคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง

 


โดย โอ เสาวนีย์

ต้องเกริ่นก่อนว่า ดิฉันเป็นครูชั้นประถมศึกษา ไม่ใช่นักวิชาการและไม่มีความรู้ในการเขียนบทความเชิงวิชาการ เพียงแต่ได้ติดตามอ่านงานวิชาการบ้าง ซึ่งหลายครั้งก็อ่านจากเพจนี้ (วารสารมานุษยวิทยาศาสนา .. เพิ่มเติมโดย บก.) เลยสนใจอยากเขียนเล่าเรื่องราวของญาติที่รู้จักซึ่งเป็นคนศรัทธาศาสนามาก ดิฉันคิดว่า หลายครั้งศาสนาสอนเราเรื่องบุญบาป จนเรารู้สึกผิดหรือกลัวที่จะทำในสิ่งไม่ดี ก็คือ “ศาสนาเหมือนจะทำหน้าที่ควบคุมชีวิตของเรา แต่กรณีที่จะเล่านี้กลับตรงกันข้าม คือคนจำนวนหนึ่งใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหรือเป็นข้ออ้างเพื่ออธิบายการกระทำของเขา อันจะช่วยรักษาสถานะเดิมของเขาให้ดำรงอยู่ แม้จะเจ็บปวดบ้างแต่ก็คงดีกว่ายอมรับความเปลี่ยนแปลง”


“พี่สมหวัง” เป็นชาวสวนที่มีบ้านอยู่หลังโรงเรียน พี่เป็นทั้งญาติและเพื่อนบ้านของดิฉัน เวลามีงานวัดหรืองานโรงเรียนแกจะเข้ามาช่วยเสมอจนเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากัน ครูของโรงเรียนนี้รู้จักพี่สมหวังมากขึ้นเมื่อพี่แกได้แต่งงานกับ “ครูละออ” ที่สอนวิทยาศาสตร์ อยู่กันมาราว10 ปีตอนนี้เขามีลูกด้วยกัน 2 คน พ่อแม่ของพี่สมหวังดีใจมากที่ลูกชายแม้จะเป็นชาวสวนแต่ได้มีโอกาสแต่งงานกับข้าราชการ พวกเขารักและเคารพครูละออมาก 


ปัญหาเพิ่งมาเกิดเมื่อ 2-3 ปีมานี้ คือครูละออดูจะเป็นคนร่าเริง เปิดกว้าง และทุกคนเชื่อว่าแกน่าจะคบผู้ชายอีกหลายคน ดิฉันทราบเรื่องนี้มานานมากแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรเพราะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่เคยบอกเรื่องนี้กับพี่สมหวังแม้จะเป็นญาติกันก็ตาม จนพี่สมหวังเริ่มคุยเรื่องนี้ให้ฟังและบอกว่าตนลำบากใจมาก เขาแอบค้นเจอถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่นในกระเป๋าของภรรยา แต่เรื่องนั้นก็ไม่ทำให้ทั้งสองเลิกกัน


ครูละออเป็นคนเปิดเผย เมื่อเพื่อนที่ทำงานถามว่า “แกทำตัวแบบนี้ ผัวไม่ว่าอะไรบ้างหรอ?” ครูก็บอกว่า “ฉันบอกเลิกมันไปตั้งหลายครั้งแล้ว แต่มันเองที่ไม่ยอมเลิก ฉันยังบอกด้วยว่า ถ้าพี่อยากไปเอากับใครก็ตามสบายเลยนะ ฉันไม่ได้รักพี่แล้ว” 


ครั้งหนึ่ง พ่อแม่ของพี่สมหวังพากันไปที่บ้านครูละออ เพื่อไปขอโทษขอขมาที่ลูกชายทำตัวไม่ดี และขอร้องให้ครูละออกลับมาอยู่ที่บ้านเขาเหมือนเดิม เรื่องนี้เป็นที่รับทราบกันของครูในโรงเรียน แต่พวกเราก็ไม่รู้หรอกว่า พี่สมหวังทำผิดอะไร เพราะจากที่สังเกต ครูละออน่าจะเป็นฝ่ายผิดที่นอกใจสามีมากกว่า เรื่องนี้ครูละอออธิบายว่า “ก็พ่อแม่ดีใจที่มันได้เเต่งงานกับข้าราชการไง เขากลายเป็นคนมีหน้ามีตา คงไม่อยากปล่อยให้ฉันหลุดมือไป” 


ช่วงหลังมา พี่สมหวังดูจะเข้าหาศาสนามากขึ้น บ่อยครั้งส่งซองกฐินผ้าป่ามาให้ดิฉันร่วมทำบุญด้วย และหน้า Facebook ของพี่แกก็มีแต่โพสต์ธรรมะของหลวงพ่อโพธิ์ศรีสุริยะ ผู้อ่านลองค้นชื่อหลวงพ่อใน YouTube จะมีเยอะมาก เนื้อหาก็พูดเกี่ยวกับการขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวร การให้อภัย การอโหสิกรรม พี่สมหวังจะเเชร์คลิปพวกนั้นมาและใส่แคปชั่นประมาณว่า “ขอให้เจ้ากรรมนายเวรจงให้อภัย ชีวิตเราจะได้มีความสุขสักที” ซึ่งเจ้ากรรมนายเวรที่ว่าอาจหมายถึง “ครูละออ” หรือ “ดวงวิญญาณบางอย่างที่ควบคุมครูละอออยู่”


ดิฉันมีโอกาสได้คุยส่วนตัวกับพี่สมหวังบ้างเวลาไปขอซื้อมะพร้าวที่สวน พี่แกก็ชอบถามถึงพฤติกรรมของครูละออที่โรงเรียน บางทีก็ถามตรงๆ ว่า “เดี๋ยวนี้มันไปคบกับครูคนไหนอีกบ้าง” ดิฉันตัดรำคาญด้วยการถามพี่แกไปว่า “ทำไมพี่ไม่เลิกกับเขาล่ะ จะได้ไม่ต้องมากังวลใจแบบนี้” และสิ่งที่พี่แกอธิบาย ช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแกกับศาสนามากขึ้น


“ผมเองก็อยากเลิกนะ แต่ไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ ท่านร้องไห้เพราะผมมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ผมทะเลาะกับเมีย (ครูละออ) แกก็รู้นิ ว่าตามหลักศาสนาพุทธ การทำให้บุพการีเสียน้ำตามันเป็นบาปแค่ไหน สิ่งที่ผมพอทำได้ตอนนี้คือ อดทนอยู่ด้วยกันเพื่อลูกจะได้ไม่ขาดความอบอุ่น”


ดิฉันอธิบายไปว่า ต่อให้เลิกกัน ลูกก็ไม่ขาดความอบอุ่นหรอก เด็กเขาดูออกว่าพ่อแม่รักกันหรือไม่ ต่อให้เลิกกันแล้วต่างฝ่ายต่างมีความสุข แบ่งกันดูแลลูกให้ดี เด็กก็มีความสุข แต่พี่แกก็ยังจะอธิบายเรื่องราวศาสนาของแกต่อ


“มันไม่ใช่เเค่เรื่องภพนี้นะสิ ที่เราต้องมาพบเจออะไรแบบนี้เป็นเพราะกรรมเก่าที่เคยได้ทำมา ผมเคยทำกรรมไม่ดีกับมันมาเมื่ออดีตชาติ ชาตินี้กำลังถูกมันเอาคืน กรรมกำหนดให้เราต้องมาเเต่งงานกัน ต้องมีลูกด้วยกัน คิดดูสิ ครูจะมาชอบเกษตรกรได้ไง ถ้าไม่เชื่อกรรมแล้วจะอธิบายสิ่งนี้ยังไง ผมก็ตั้งใจทำบุญ สวดมนต์ ขอขมา ให้เจ้ากรรมนายเวรของมันรีบให้อภัย ถ้าให้ผมเลิกกับมันไปตอนนี้ กรรมมันก็ไม่จบหรอก เกิดชาติหน้าก็จะได้แต่งงานกับมัน และถูกมันทำร้ายจิตใจแบบนี้อีก ยังไงผมก็จะอดทนจนกรรมนี้สิ้นสุด แล้วเราจะได้ไม่ต้องมาเจอกันอีกในชาติหน้า”


จากที่พี่สมหวังพูด คงหมายความว่า ชาตินี้พี่แกก็จะขออยู่อย่างนี้ต่อไป อาจดูเหมือนทำไมพี่แกถูกศาสนาครอบงำหนักขนาดนี้ ถึงขั้นที่ชีวิตย่ำแย่ก็ไปโทษกรรมเก่า ทั้งที่ทางออกมันง่ายนิดเดียว คืออธิบายให้พ่อแม่ฟังแล้วเลิกกับภรรยา ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กัน แต่พอคิดดูอีกที ไม่ใช่เพราะศาสนาครอบงำหรอก แกน่าจะใช้ความเชื่อทางศาสนามาอธิบายสถานะที่แกอยากรักษาไว้ อยากอยู่กับครูละออต่อไป ดูเหมือนพี่แกรักครูละออมาก แม้จะถูกครูละออทำร้ายจิตใจหลายครั้ง แต่พี่แกคงมีหลักศาสนามาประโลมใจและให้อภัยครูละออได้ตลอด 


ดิฉันคิดว่า เคสของพี่สมหวัง น่าจะเป็นคนที่รักเมีย รักครอบครัว อยากดูแลหรือเอาใจพ่อแม่ หรืออาจพอใจกับสถานะทางสังคมแบบนั้นด้วย จึงต้องใช้หลักศาสนามาเป็นตัวช่วยให้แกอยู่ใน safe zone นั้นได้ต่อไป เพราะศาสนาก็น่าจะมีการตีความแบบหลากหลาย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโตอธิบายว่า กรรมปัจจุบันสำคัญกว่ากรรมอดีตเราจะต้องพัฒนาสติปัญญาขึ้นมาแก้ปัญหา ไม่ปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามกรรม แต่กำหนดกรรมใหม่หรือกรรมปัจจุบันของเราเอง ท่านกล่าวว่า คนที่เชื่อว่ากรรมเก่ากำหนดทุกอย่างจัดเป็นพวก ปุพเพกตเหตุวาท ซึ่งจัดเป็นความเห็นผิด (ฺBhikkhu P.A. Payutto, 2553) การอธิบายแบบนี้ก็พบได้บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่เห็นว่าพี่แกจะเอาธรรมะแบบนั้นมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงครอบครัวหรือความสัมพันธ์ของแกบ้าง แสดงว่าพี่แกคงเลือกแล้ว 


คำสอนของสำนักวัดร่มโพธิธรรมดูคล้ายคำสอนพุทธศาสนานิกายเซ็น (Zen) คือสอนให้คนปล่อยวางและบอกว่า ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว เพียงแต่มีหมอกเมฆหรือกิเลสมาบดบัง หลวงพ่อโพธิ์ศรีสุริยะยังบอกด้วยว่า ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเจริญสติ เพราะเท่ากับเป็นการปรุงแต่งจิต สร้างกรรมใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้เราทำ “การขอขมากรรม หรือ อโหสิกรรม” เท่านั้น กรรมเก่าจะได้หมดๆ ไป และกรรมใหม่ก็ไม่เพิ่มขึ้น (Rombodhidharma, 2558) แต่นิกายเซ็นไม่ได้เป็นแบบนี้ คือไม่ได้เน้นเรื่องเจ้ากรรมนายเวร แต่ยังมีการนั่งสมาธิ ฝึกโคอาน (คิด/ถามตอบโดยไม่ปรุงแต่ง) ซึ่งเป็นไปได้ว่า เมื่อสำนักวัดร่มฯ สอนว่าที่มาของทุกข์คือการเข้าไปยึดมั่น แต่ไม่ได้สอนให้คนหาทางออกที่ตรงกับปมปัญหานั้นๆ ซึ่งปัญหามีความหลากหลายซับซ้อน การปล่อยวางไม่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตจริงๆ ของคนได้ พุทธศาสนาจึงมีคำสอนมากมาย หรือที่เรียกว่า “อุปายโกศล” เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 


ดิฉันไม่ได้ยืนยันว่า คำสอนของพุทธศาสนาสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่อย่างน้อยกรณีของพี่สมหวังซึ่งทำตามหลักของวัดร่มฯ โดยใช้การปล่อยวางและขอขมากรรมเป็นแนวทาง เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหาเป็นการสร้างกรรมเพิ่ม จนตอนนี้พี่เขาจมอยู่กับความทุกข์ เพราะเขายังอยู่กับปัญหาเดิมๆ ทุกวัน ที่แม้จะมีทางแก้ แต่เขาก็ไม่เลือก แล้วขอใช้เฉพาะวิธีปล่อยวางหรืออโหสิกรรมต่อไปมาเป็นเวลา 2/3 ปีแล้ว เป็นไปได้ว่าลูกศิษย์คนอื่นๆ ของวัดร่มฯ อาจไม่ได้ตีความคำสอนของหลวงพ่อแบบพี่สมหวัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกใช้คำสอนของวัดนี้ช่วยให้พี่สมหวังทนอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบแม้จะเป็นทุกข์ได้ พี่สมหวังจึงเลือกใช้คำสอนของศาสนามาให้ความชอบธรรมแก่ตนเอง มากกว่าจะตกเป็นเครื่องมือหรือถูกครอบงำโดยศาสนา


เป็นไปได้ว่า ศาสนาที่คนใช้เป็นสรณะหรือ “ที่พึ่ง” อาจหมายถึงพื้นที่ Safe Zone ที่คนเข้ามาหลบเพราะปัญหาต่างๆ รุมเร้า ศาสนาอาจช่วยให้คนออกจากปัญหาได้บ้างหรือไม่ได้บ้าง แต่เราไม่ควรมองว่า คนไม่สามารถเลือกพื้นที่ Safe Zone ของตัวเองได้ ในทางกลับกัน พื้นที่ Safe Zone มีอยู่มากมาย (หลายศาสนา/นิกาย) และคนมักจะเลือกว่าศาสนาแบบใดที่ตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้ เขาก็จะเลือกเป็นสาวกของที่นั่น การมองเช่นนี้อาจช่วยให้เรามองเห็นมนุษย์ในฐานะ “ผู้มีสิทธิ์เลือก” มากกว่า “ผู้ถูกครอบงำหรือถูกล้างสมอง”  


อ้างอิง

Bhikkhu P.A.Payutto. (2553). นับถือพุทธศาสนา อย่าให้เพี้ยน. เข้าถึงจากเว็บไซด์ https://www.youtube.com/watch?v=jUe8Pcu6pFY&t=930s.

Rombodhidharma. (2558). อโหสิ วันที่ 11 มิ.ย. 58 หลวงพ่อโพธิ์ศรีสุริยะ เขมรโต วัดร่มโพธิธรรม จ.เลย เข้าถึงจากเว็บไซด์ https://www.youtube.com/watch?v=pTA1W51UYQw.

ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=VapEQ3A38PA

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า