Journal of Religious Anthropology

ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่เคลื่อนไป: บทสะท้อนและข้อวิจารณ์

 

โดย ชนะพงศ์ ลิ้มเสรี

“ธรรมวิทยาที่เกิดขึ้นใหม่จะเป็นผลของการปฏิเสธของเดิมโดยสิ้นเชิงหรือเป็นการสังเคราะห์ของสิ่งที่มีอยู่เดิมเข้ากับของใหม่ เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้” (สมบัติ จันทรวงศ์)

 

ความเรียงเชิงสังเคราะห์ฉบับนี้พยายามสนองตอบต่อแนวคิด “ธรรมวิทยาแห่งพลเมือง” หรือ “civic religion” ในบริบทสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย โดยปักหมุดที่งานวิจัยชิ้นสำคัญเรื่อง วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง: การศึกษาคำประกาศธรรมของประกาศกร่วมสมัย (The Crisis of Competing Civic Religions: A Study of Contemporary Prophets and their Teachings) ที่นำศึกษาโดย สมบัติ จันทรวงศ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานศึกษาชิ้นดังกล่าวสมบัติรับอิทธิพลในการศึกษาธรรมวิทยาแห่งพลเมืองจาก Robert Bellah นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งได้เขียนงาน Civil Religion in America (1967) ที่สืบย้อนกลับไปถึงแนวคิดสัญญาประชาคมที่อยู่ในงาน the Social Contract ของ Jean-Jacques Rousseau นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส 

สมบัติเริ่มต้นด้วยการเกริ่นถึงสถานการณ์ความเสื่อมถอยลงของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกระแสหลักในไทย โดยสรุปไว้ว่า พุทธศาสนาในฐานะองค์กรและในฐานะตัวคำสอนแบบเดิม ๆ ได้หมดพลังในมิติของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองลงไปโดยเกือบสิ้นเชิง ในขณะที่ธรรมวิทยากระแสหลักนี้กำลังอ่อนแอด้วยพลังถาโถมของโลกาภิวัตน์ที่เปิดพื้นที่สื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกระแสรองกลับงอกเงยขึ้นอย่างมากด้วยเหตุดังกล่าว และไม่เพียงดำรงอยู่ด้วยตัวมันเอง แต่เข้าวิพากษ์ท้าทายคุณค่าชุดเดิมของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกระแสหลัก  วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในยุคสมัยต่อไปจะคลี่คลายไปในทิศทางใด ในเมื่อธรรมวิทยากระแสหลักที่เคยมีพื้นฐานศีลธรรมของพุทธศาสนากำลังเสื่อมลงเหว และธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกระแสรองที่กำลังเติบโตและรุกคืบเข้าชิงพื้นที่นั้นกลับปราศจากเนื้อหาทางศีลธรรมใด ๆ มิพักต้องกล่าวถึงศีลธรรมที่มาจากฐานทางศาสนา สมบัติได้ทิ้งท้ายด้วยความกังวลไว้ในตอนหนึ่งว่า


“…เหล่าประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพชั้นนำของไทย เลือกที่จะทดแทนสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวระบอบทางประชาธิปไตยที่เน้นความเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการดำรงอยู่ของมวลมหาประชาชนผู้ล่วงรู้แจ้งและความแน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นและความใฝ่ฝันในความเสมอภาค (ทั้งในแง่ของผลประโยชน์และสิ่งอื่นใด) อันถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดี แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเห็นว่าธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่ปราศจากเนื้อหาทางศาสนาหรือจริยธรรมเลย จะสามารถยึดโยงประชาชาติใดให้อยู่ด้วยกันได้เป็นเวลาที่นานพอ สังคมในอุดมคติที่ไม่ต้องการสำนึกทางศีลธรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่จะเหมาะหรือไม่กับการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นเรื่องที่ยังต้องการคำตอบ” (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

อ่านบทความเต็มจาก  https://cutt.ly/A2wELQa

ภาพจาก https://tlhr2014.com/archives/5747

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า